ส่วนในแง่ของกำไรในปีนี้ก็น่าจะเติบโตในทิศทางเดียวกับรายได้ หลังจากปี 56 กำไรของบริษัทอาจจะต่ำลงจากปีก่อนหน้าที่มีกำไรราว 171 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ที่จะต้องมีการตั้งสำรองภาษี แต่อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรสุทธิ(net profit margin)ของปีที่แล้วยังสูงกว่า 10% หรือเป็นตัวเลข 2 หลัก
สำหรับแผนธุรกิจในปีนี้ บริษัทตั้งเป้าสัดส่วนรายได้มาจากงานในประเทศ รวมถึงภูมิภาคอาเซียน ราว 50% ส่วนอีก 50% จะมาจากการส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ไปจำหน่ายในภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะสหภาพยุโรป(EU) ซึ่งล่าสุดผู้ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในเยอรมันได้เข้ามาดูมาตรฐานการผลิตในโรงงานของบริษัทเมื่อปลายปีที่แล้ว คาดว่าในปีนี้จะเริ่มส่งสินค้าให้และรับรู้รายได้ตั้งแต่เดือน เม.ย.57 และยังมองโอกาสที่จะขยายตลาดต่อไปยังสวิตเซอร์แลนด์ และญี่ปุ่นที่มีการเติบโตของการใช้พลังงานทดแทนค่อนข้างสูง
นางปัทมา กล่าวว่า บริษัทคาดว่าในปีนี้จะมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศราว 800-1,000 ล้านบาท ส่วนงานในประเทศและประเทศในแถบนี้จะเป็นยอดขายแผงโซลาร์เซลล์ ระบบผลิตไฟฟ้า และงานติดตั้ง คาดว่าจะมีงานเข้ามาราว 2,000-3,000 ล้านบาท
"ศักยภาพบริษัทมีทั้งงานผลิตแผงโซลาร์ผลิตแผ่นเซลล์ อุปกรณ์ต่างๆ และการติดตั้งด้วยครบวงจรซึ่งจะมี value add มากขึ้น ก็จะทยอยรับรู้รายได้ตามงานเสร็จ อย่างงานติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้กับโรงเรียนต่างๆ ที่ไฟดับไฟตกบ่อย...ตลาดส่งออก 50% ตอนนี้ focus ที่ยุโรป โดยเฉพาะเยอรมัน จากเดิมขายให้กับรายใหญ่ แต่ปีนี้ขายลูกค้าทั่วไปที่จะติดตั้งแผงมากขึ้น ซึ่งมีออร์เดอร์เข้ามาแล้ว เป้าหมายต่อไปขยายตลาดสวิตฯ ญี่ปุ่น ซึ่งมีความต้องการใช้พลังงานทดแทนสูง ลูกค้าเยอรมันที่สั่งเราเยอะเพราะ SOLAR เป็นบริษัทผลิตแผ่นเซลล์และแผงเซลล์รายเดียวที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์"นางปัทมา กล่าว
ปัจจุบัน บริษัทมีโรงงานผลิตแผ่นโซลาร์เซลล์ 2 โรงตั้งอยู่ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ขนาดกำลังการผลิตโรงละ 70 เมกกะวัตต์/ปี ซึ่งแต่ละโรงได้เตรียมระบบสาธารณูปโภครองรับการขยายการผลิตอีกโรงละ 1 สายการผลิต เพื่อเพิ่มการผลิตอีกเท่าตัว คืออีก 150 เมกะวัตต์ ประเมินว่าจะต้องใช้เงินลงทุนอีกราว 850 ล้านบาท โดยบริษัทจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีในการพิจารณาผลการตอบรับในแบรนด์ของบริษัทก่อนจะตัดสินใจขยายการผลิต คาดว่าจะสามารถกำหนดแผนได้ราวสิ้นปีนี้ "การลงทุนถ้าเป็นเงินลงทุนสำหรับโปรเจ็คต์กู้สถาบันการเงินได้ แต่ถ้าขยายกำลังการผลิตก็ต้องระดมทุน ซึ่งอยู่ระหว่างเลือกแนวทางอยู่"นางปัทมา กล่าว
นางปัทมา กล่าวว่า บริษัทยังมองโอกาสในการขยายธุรกิจในทุกด้าน ทั้งการรับงานวางระบบและติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้กับโรงงานอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมไปถึงการเข้าไปลงทุนตั้งโซลาร์ฟาร์มหรือขยายโรงงานผลิต อาจเป็นการลงทุนด้วยตัวเองหรือร่วมกับพันธมิตร โดยเฉพาะประเทศในอาเซียนที่มีอัตราค่าไฟฟ้าสูงมากและมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอีกตามราคาเชื้อเพลิง อย่างเช่น กัมพูชา และฟิลิปปินส์ หรือ อินโดนีเซียที่มีสภาพเป็นหมู่เกาะเป็นอุปสรรคในการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง
สำหรับแผนการเพิ่มทุนจดทะเบียนแบบมอบอำนาจทั่วไป (General Mandate)ที่ได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นไว้แล้วนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบของการเพิ่มทุน ซึ่งขณะนี้มองว่าการออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายให้กับนักลงทุนเฉพาะเจาะจง(PP) มีความน่าสนใจ เพราะบริษัทเห็นประโยชน์ของการมี strategic partner โดยปัจจุบันมีผู้ที่สนใจเข้ามาพูดคุยด้วยทั้งผู้ประกอบการในประเทศ และผู้ผลิตโซลาร์เซลล์จากจีน คาดว่าหลังผ่านตรุษจีนช่วงสิ้นเดือนนี้ไปแล้วน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น