ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต ค่าใช้จ่ายการลงทุนเพิ่มขึ้น: บริษัทฯ ยังคงมีแผนใช้จ่ายลงทุนที่สูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้อย่างต่อเนื่อง จากโครงการร่วมทุนเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องของสารเบนซีน (ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตผงซักฟอก) ฟิทช์คาดว่าค่าใช้จ่ายลงทุนของบริษัทฯจะเพิ่มขึ้นเป็น 44.5 พันล้านบาทในปี 2556-2558 จากค่าใช้จ่ายลงทุนเฉลี่ยต่อปีที่ 4.9 พันล้านบาทในช่วงปี 2552-2555
นอกจากการลงทุนในส่วนของการผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องของสารเบนซีนแล้ว บริษัทฯ ยังมีแผนลงทุนในด้านอื่นๆอีกซึ่งประกอบด้วย การสร้างโรงไฟฟ้า การขยายกำลังการผลิต การพัฒนาประสิทธิภาพและความต่อเนื่องในการผลิต โครงการการปรับปรุงหน่วยกลั่นน้ำมัน และการขยายธุรกิจโซลเว้นท์ (สารทำละลาย) แม้ว่าอัตราส่วนหนี้สินที่วัดจากหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน (funds flow from operations (FFO) adjusted net leverage) อาจเพิ่มสูงขึ้นในปี 2557 ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวน่าจะปรับตัวลงมาอยู่ในระดับ 1.0 เท่า ถึง 1.5 เท่า ในปี 2558-2559 เมื่อบริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายการลงทุนลดลง
โรงกลั่นที่มีการผลิตแบบคอมเพล็กซ์และต้นทุนต่ำ: อันดับเครดิตของบริษัทฯ สะท้อนถึงการมีขนาดการผลิตที่ใหญ่เมื่อเทียบกับโรงกลั่นน้ำมันอื่นๆ ในประเทศ รวมถึงการมีกระบวนการกลั่นน้ำมันแบบคอมเพล็กซ์ที่สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูปชนิดที่มีมูลค่าสูงได้ในสัดส่วนที่สูงโดยมีต้นทุนการผลิตต่ำ การพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตอย่างต่อเนื่องและการมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงเพิ่มขึ้นยังช่วยทำให้บริษัทฯ สามารถรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆในภูมิภาคเดียวกันได้อีกด้วย
การมีธุรกิจที่หลากหลาย บริษัทฯ มีการขยายสายการผลิตต่อเนื่องไปยังการผลิตอะโรเมติกส์ น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานและผลิตภัณฑ์โซลเว้นท์ซึ่งเป็นการเพิ่มระดับการผลิตแบบครบวงจร และลดความผันผวนของส่วนต่างระหว่างรายได้กับต้นทุน การขยายธุรกิจไปยังการผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องของสารเบนซีนจะช่วยเพิ่มความหลากหลายของสินค้าของบริษัทฯ นอกจากนี้ฟิทช์คาดว่าบริษัทฯ จะมีรายได้จากธุรกิจการผลิตไฟฟ้ามากขึ้นตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป เมื่อโรงไฟฟ้า 2 โรงที่สร้างขึ้นใหม่เริ่มทำการผลิตไฟฟ้า อย่างไรก็ตามสัดส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่ายจากธุรกิจไฟฟ้าจะยังไม่สูงมากนัก โดยคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 6 ถึง ร้อยละ 8 ของกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่ายรวมของบริษัทฯ ในปี 2559
ความเชื่อมโยงกับ บมจ.ปตท.(PTT) อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัทฯ ได้มีการพิจารณารวมถึงการปรับอันดับเครดิตขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับเครดิตของบริษัทฯ เมื่อพิจารณาตัวบริษัทฯโดยลำพัง (Stand-alone Rating) ซึ่งการปรับดังกล่าวเป็นการสะท้อนถึงความเชื่อมโยงของบริษัทฯ กับ PTT (ซึ่งมีอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ระดับ AAA(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งแสดงถึงความสำคัญทางด้านกลยุทธ์ของบริษัทฯ ที่มีต่อ PTT นอกเหนือจากการที่ PTT เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 49 บริษัทฯ เป็นโรงกลั่นที่สำคัญในกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันที่เป็นบริษัทในเครือของ PTT รวมถึงเป็นผู้ขายผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปหลักให้กับธุรกิจค้าปลีกน้ำมันของ PTT อีกด้วย โดยปริมาณน้ำมันที่ขายให้แก่ PTT คิดเป็นหนึ่งในสามของความต้องการน้ำมันทั้งหมดในธุรกิจค้าปลีกน้ำมันของ PTT ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556
ธุรกิจมีความผันผวนสูง อันดับเครดิตของบริษัทฯ ยังพิจารณารวมถึงปัจจัยเสี่ยงจากการที่บริษัทฯ ต้องเผชิญกับความผันผวนที่สูงของวัฏจักรของธุรกิจ นอกจากนี้บริษัทฯ งมีความเสี่ยงจากการมีฐานการผลิตเพียงแห่งเดียวและพึ่งพา ปตท. ในตลาดภายในประเทศเป็นหลัก อย่างไรก็ตามความเสี่ยงจากการที่บริษัทฯ มีการขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมส่วนใหญ่ให้กับปตท. (ร้อยละ 43 ของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556) ได้ถูกบรรเทาลงจากการที่ปตท.มีอันดับเครดิตที่แข็งแกร่ง และเป็นผู้ดำเนินธุรกิจรายใหญ่ในการจัดจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทย นอกจากนี้อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงความเสี่ยงจากการที่ประเทศไทยต้องพึ่งพาน้ำมันดิบจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงอีกด้วย
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต ปัจจัยบวก: -การมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงานอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 0.75 เท่า อย่างต่อเนื่อง (บริษัทฯ มีอัตราส่วนดังกล่าวที่ระดับ 0.9 เท่า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 โดยคำนวนจากกระแสเงินสดดังกล่าวย้อนหลังไป 12 เดือนล่าสุด) แม้ว่าจะมีโอกาสเป็นไปได้น้อยในระยะ 2- 3 ปี ข้างหน้า- ระดับความสัมพันธ์ในด้านการดำเนินงานและความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทฯ กับ ปตท. ที่เพิ่มมากขึ้น
ปัจจัยลบ: - ค่าการกลั่นและส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและวัตถุดิบที่ต่ำอย่างต่อเนื่อง -การลงทุนที่เพิ่มขึ้นโดยมีแหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมซึ่งทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นในระดับที่สูงกว่า 1.75 เท่า อย่างต่อเนื่อง - ระดับความสัมพันธ์ในด้านการดำเนินงานและความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทฯ กับ ปตท. ที่ลดลง