บลจ.วรรณ ส่งกองหุ้นจีนเสนอขาย 31 ม.ค.-6 ก.พ.ตั้งเป้าผลตอบแทน 7%

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 29, 2014 09:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ เปิดเผยว่า บริษัทเล็งเห็นโอกาสการลงทุนในตลาดหุ้นจีนจึงเสนอขายกองทุนเปิด วรรณ ไชน่า แวลู 7 เปอร์เซนต์ ฟันด์ (ONE-CHINA7) ในระหว่างวันที่ 31 มกราคม -6 กุมภาพันธ์ 2557 เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ลงทุนที่ต้องการกระจายการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ของจีน โดยตั้งเป้าหมายลงทุน 7% ในระยะเวลา 7 เดือน โดยจะเลิกกองทุนเมื่อมูลค่าหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 10.73 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ นักลงทุนสามารถลงทุนด้วยเงินขั้นต่ำ 10,000 บาท

กองทุน ONE-CHINA7 ลงทุนในหลักทรัพย์จีนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงในรูปแบบ H-Share โดยเน้นการคัดเลือกหุ้นรายตัว โดยมีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน (Fully hedge) ระหว่างเงินบาทและฮ่องกงดอลลาร์อย่างน้อย 90% ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้สำหรับกองทุนเปิด ONE-CHINA7 จะมุ่งเน้นการบริหารจัดการที่มีความยืดหยุ่น บริหารพอร์ทโฟลิโอด้วยการเฉลี่ยน้ำหนักใกล้เคียงกัน (Equally-Weighted Portfolio)

กองทุนคัดเลือกหุ้นโดยพิจารณาจาก 5 ปัจจัยหลัก ได้แก่ อัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E) ปี 2014 ที่ระดับประมาณ 5 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของดัชนี HSCEI Index ซึ่งอยู่ที่ระดับ 9.81 เท่า อัตราส่วนราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชี (P/BV) และ PEG Ratio ต่ำกว่า 1 เท่า อัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS growth) มากกว่า 5% และอัตราการจ่ายเงินปันผลในปี 2014 ของบริษัทจดทะเบียนที่ระดับ 5% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 3.93% โดยเน้นบริษัทขนาดใหญ่จาก 50 บริษัทแรก โดยเราเชื่อว่าด้วยปัจจัยการเลือกหุ้น 5 ประการดังกล่าว จะทำให้การลงทุนในหุ้นเหล่านั้นมีความเสี่ยงที่ค่อนข้างต่ำ นายวิน ประเมินภาวะการลงทุนในหุ้นจีนพบว่า ราคาหุ้นได้ปรับลดลงค่อนข้างมากอันเนื่องมาจากปัจจัยลบ อาทิ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ปัญหาการปล่อยเงินกู้นอกระบบ (Shadow banking) อีกทั้งความกังวลด้วยการผลิตส่วนเกิน (Over capacity) ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ทำให้แนวโน้มกำไรทางบริษัทจดทะเบียนปรับลดลง โดยดัชนี HSCEI Index ปรับตัวลดลงตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมกว่า 15% (ข้อมูล ณ วันที่ 27 มกราคม 57) มองว่าปัจจัยกดดันข้างต้นน่าจะมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากผลการประชุมใหญ่ครั้งที่ 3 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) ที่เริ่มมีแนวทางการปฏิรูปในหลายๆส่วน ซึ่งโดยรวมมีโอกาสสูงที่จะทำให้เศรษฐกิจจีนกลับมาเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น และความกังวลที่ลดลงของปัญหาการปล่อยเงินกู้นอกระบบหลังจากที่ทางการจีนได้มีมาตรการออกมาควบคุมการทำธุรกรรมดังกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตลาดหุ้นจีน พบว่าการปรับตัวลงของหุ้นจีนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มูลค่าหุ้นบางกลุ่มเริ่มถูกลงจนต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานและอยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดยเฉพาะ หุ้น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่ได้รับประโยชน์จากความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัว และการปฏิรูปด้านการเงิน ซึ่งการที่ทางการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ ทั้งในเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบเสรี การอนุญาตให้รัฐบาลท้องถิ่นเสนอขายหุ้นกู้รัฐบาลท้องถิ่น ได้เอง ทำให้ความเสี่ยงในเรื่องของการผิดนัดชำระหนี้ (NPL) จะลดทอนลง ซึ่งทำให้นักลงทุนเริ่มมีการปรับเพิ่มมุมมองตลาดหุ้นจีนที่ดีขึ้น

ขณะที่กลุ่มพลังงาน ซึ่งมีความต้องการบริโภคพลังงานมากขึ้น จากเศรษฐกิจที่เริ่มมีเสถียรภาพและค่อยๆ ฟื้นตัว โดยเฉพาะน้ำมัน ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากการปฏิรูปเศรษฐกิจจีนที่สนับสนุนการสำรวจและผลิตน้ำมัน รวมทั้งพลังงาน และลดการกระจุกตัวของผู้ผลิตรายใหญ่เพื่อกระจายไปยังบริษัทเอกชนรายย่อยมากขึ้น และกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มรถไฟทางรางและรถไฟใต้ดิน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนการก่อสร้างตามนโยบายทางการจีน โดยในปีนี้ ทางการจีนคาดว่าน่าจะมีภาคเอกชนลงทุนในกลุ่มรถไฟรางและรถไฟใต้ดินกว่า 100-300 พันล้านหยวน ประกอบกับทางการจีนเองก็ยังมีแนวทางในการเพิ่มการลงทุนในรถไฟทางรางในปีนี้

จากการวิเคราะห์ราคาหุ้นในอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์จากปัจจัยข้างต้น พบว่าณ ราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียนฯขนาดใหญ่บางกลุ่มในปัจจุบันค่อนข้างต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน (Undervalue)เมื่อเทียบกับดัชนี Hang Seng China Enterprise Index (HSCEI Index)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ