(เพิ่มเติม) KBANK ดันสินเชื่อปี 57 โต 6-8%,รายได้ค่าธรรมเนียมโต 15%แม้ศก.ยังไม่แน่นอน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 29, 2014 15:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกสิกรไทย(KBANK)ธนาคารได้ปรับโครงสร้างการบริหารจัดการเพื่อรองรับกับการดูแลสนับสนุนลูกค้าตามกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ให้คล่องตัวยิ่งขึ้น โดยมีผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการดูแลในแต่ละสายอุตสาหกรรม ซึ่งธนาคารได้วางเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อในปี 57 อยู่ในกรอบ 6-8% และมีการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 15% ซึ่งจะทำให้สัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้ที่ไม่ได้มาจากการให้สินเชื่อ เมื่อเทียบกับปริมาณสินเชื่ออยู่ที่ 2.6% ปรับตัวดีขึ้นจากปี 56 ที่ระดับ 2.4%

ธนาคารมองว่าในปีนี้ธุรกิจไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายใน รวมถึงทิศทางการฟื้นตัวที่ยังไม่ชัดเจนของประเทศสหรัฐฯ ภาคพื้นยุโรป และญี่ปุ่น ขณะที่จีนส่งสัญญาณชะลอการเติบโตที่ชัดเจน เพื่อปรับสมดุลของเศรษฐกิจภายในประเทศ อันจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออกของอาเซียนและไทย ทำให้การคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปรับลดลงมาอยู่ในกรอบระหว่าง 2.2-3.7%

นายวศิน กล่าวว่า ภายใต้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ในขั้นสูงที่ 3% นั้น ประเมินว่าการส่งออกในปีนี้จะเติบโต 5% การลงทุนเติบโตราว 2.2% โดยมองว่ายังมีความเสี่ยงความเปราะบางของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอยู่มาก แต่การลงทุนในประเทศปีนี้ยังเติบโตได้ฟื้นตัวจากปีก่อนที่ติดลบ อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ดังกล่าวถือว่ายังต้องระมัดระวังอยู่ หากไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ก็อาจจะเติบโตเหลือ 2.2%ได้

สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปขณะนี้มีทิศทางที่ค่อนข้างทรงตัวและแนวโน้มเป็นบวกมากขึ้น การดำเนินนโยบายของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น การลดขนาด QE ส่งผลกดดันต่ออัตราค่าเงินบาท ขณะเดียวกันการฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจหลักยังมีความเปราะบางและผันผวนค่อนข้างมาก ทางธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าในไตรมาส 1/57 ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงมาสู่ระดับ 34.50 บาท/ดอลลาร์ รวมถึงสถานการณ์เมืองในประเทศยังเข้ากดดันต่อเนื่องอีกด้วย

ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยในปีนี้นั้น จากปัจจัยต่างๆที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นกระแสเงินทุนไหลกลับ ทำให้มีบางประเทศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เช่น อินโดนีเซีย ด้านประเทศไทยยังต้องคอยจับตาดูปัจจัยต่างๆโดยรวม ซึ่งการเติบโตของประเทศยังมีการชะลอตัวลง จะเห็นได้ว่าในปีนี้สถาบันการเงินมองแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยแตกต่างกัน ซึ่งทางธนาคารมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาส 4/57 เนื่องจากเมื่อฝั่งสหรัฐมีอัตราดอกเบี้ยแพงขึ้น อัตราดอกเบี้ยของไทยก็คงต้องไปในทิศทางเดียวกัน

นายวศิน กล่าวอีกว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในภาคต่าง ๆ ปีนี้ ภาคอสังหาริมทรัพย์เชื่อว่าจะยังไม่เกิดภาวะฟองสบู่ โดยโครงการคอนโดมิเนียมและแนวราบยังน่าจะเติบโตต่อเนื่อง โดยยอดขายน่าจะเติบโตราว 5% หรือ 2-3 แสนล้านบาท แต่สัดส่วนระหว่างคอนโดมิเนียมและแนวราบเริ่มเปลี่ยนไป จากเดิมจะเห็นแนวราบ 55% คอนโดฯ 45% แต่ปี 57 นี้สัดส่วนคอนโดฯจะเพิ่มเป็น 55% และแนวราบจะลดลงมาอยู่ที่ 45% เนื่องจากมีการเปิดตัวคอนโดฯตามแนวรถไฟฟ้ามากขึ้น เน้นจับกลุ่มตลาดกลางและล่างเป็นหลัก เพราะกำลังซื้อกลุ่มรายย่อยยังคงดีอยู่

ขณะที่ความต้องการอาคารสำนักงานของกลุ่มภาคธุรกิจยังมีประมาณ 50% และยังมีความต้องการขยายโรงงานคลังสินค้าของกลุ่มโรงงานอีกด้วย อีกทั้งในปีนี้จะเห็นการเติบโตของคอมมูนิตี้มอลที่กระตุ้นกำลังซื้อและตอบโจทย์ความต้องการของผู้ซื้อได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามธนาคารก็มีความระมัดระวังมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อ โดยจะมีการปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการต่างๆ แบบเฉพาะเจาะจง

ด้านภาคอุตสหากรรม โครงสร้างสาธารณูปโภค และธุรกิจโลจิสติกส์นั้น มองว่าโครงการ 2.2 ล้านล้านบาท และโครงการ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาลอาจจะยังไม่เกิดขึ้นในปีนี้ก็ได้ แต่ยังคงมีโครงการต่อเนื่องที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วก่อนหน้านี้ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง และสายสีเขียว จึงทำให้ยังมีความต้องการด้านสินเชื่อจากโครงการรถไฟฟ้าและผู้รับเหมา อีกทั้งน่าจะเห็นความคึกคักในธุรกิจโลจิสติกส์อย่างมาก เนื่องจากไทยเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อกับหลายๆประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนมากขึ้น

ภาคอุตสาหกรรมสื่อสาร ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ จากการที่มีดิจิตอลทีวีเกิดขึ้น จะก่อให้เกิดการลงทุนในการวางโครงข่ายเพื่อกระจายสัญญาณให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ตลอดจนแผนขยายโครงข่ายโทรศัพท์ 3G และ 4G ที่จะมีโอกาสสูงในการขยายตัวของธุรกิจอุตสาหกรรมนี้ ขณะที่ธุรกิจยานต์ จะกลับเข้ามาสู่ภาวะปกติ หลังจากมีการปรับตัวอยู่ในฐานที่สูงในปีก่อน จากนโยบายรถคันแรก ประเมินว่าจะมีกำลังการผลิตเติบโตได้ถึง 250,000 คันต่อ/ปี

และ อุตสาหกรรมธุรกิจพลังงานในปีนี้ ยังเห็นการลงทุนต่อเนื่อง โดยจะเห็นการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 5,700 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 286,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการก่อสร้างในระยะยาว 2-4 ปีข้างหน้า คาดว่าจะเห็นกลุ่มพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นในปีนี้หรือเป็นประมาณ 70,000 ล้านบาท และโดดเด่นอย่างมากในการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้า SPP มูลค่าประมาณ 4-5 พันล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ