นอกจากนั้น บริษัทยังมีแผนที่จะรุกธุรกิจจำหน่ายกล่องรับสัญญาณดาวเทียมดิจิตอล(SET TOP BOX) ซึ่งขณะนี้รอความชัดเจนในเรื่องของการออกคูปองจากทาง กสทช. โดยมีการตั้งงบเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนไว้ 600 ล้านบาท รวมถึงคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้น ปีนี้จะมากกว่า 20% จากปีก่อนอยู่ที่ 20%
บริษัทมีงานในมือ(backlog)ปัจจุบันกว่า 700 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดมาจากการที่บริษัทร่วมทุนกับบมจ.เอ็ม เอฟ อี ซี (MFEC ในนามของ กิจการค้าร่วม เอฟเอ็ม (FM Consortium) โดยได้รับงานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) ออกแบบ จัดหา พร้อมติดตั้งระบบสื่อสาร DWDM (Dense Wavelenght Division Multiplexing) และ IP Core Network มูลค่าโครงการกว่า 919 ล้านบาท โดยเป็นมูลค่าโครงการเฉพาะส่วนของบริษัทกว่า 455 ล้านบาท และจากการทยอยรับรู้รายได้ของปี 56 ซึ่งเป็นงานติดตั้งกล้อง CCTV อีก 200 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม บริษัทเตรียมเซ็นสัญญารับงานใหม่เพิ่มเติมอีกมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาทในปีนี้ ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้
"บริษัทฯยอมรับว่า งานในส่วนภาครัฐอาจมีความล่าช้า โดยบริษัทยังคงเข้าประมูลงานจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นงานที่มีมูลค่าสูงและมีกำหนดระยะเวลาการรับรู้ที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม บริษัทได้มีการหาลูกค้ารายอื่นๆมาทดแทน เช่น งานจากรัฐวิสาหกิจ และเอกชนอื่นๆที่ต้องอาศัยเทคโนโลยี และรายได้จากบริษัทฯย่อยที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้น รวมถึงบริษัทฟอร์ท ไลท์ติ้ง จำกัด ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายหลอดไฟฟ้าและอุปกรณ์สำหรับให้แสงสว่าง ที่มีการจัดตั้งไปเมื่อปลายปี 2556 น่าจะเริ่มรับรู้รายได้ในปีนี้
ขณะที่เชื่อว่างานด้านเทคโนโลยีและการสื่อสารจะมีอัตราการเติบโตในด้านของอัตรากำไรขึ้นต้นที่ดี ประกอบกับธุรกิจโทรคมนาคมยังมีช่องทางการเติบโตอีกจำนวนมาก ไม่ว่าเป็นด้านเทคโนโลยี หรือชิ้นส่วนอุปกรณ์ด้านการสื่อสารที่ต้องมีการผลิตและพัฒนาอยู่เสมอเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสของการการสื่อสาร โดยทาง FORTH ได้มีการพัฒนาสินค้า และบุคลากร รวมถึงการบริการให้ก้าวหน้าไปพร้อมกัน ซึ่งจากงานต่างๆที่กล่าวมาข้างต้นน่าจะช่วยสนับสนุนให้บริษัทมีโอกาสเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้"นายพงษ์ชัย กล่าว
นายพงษ์ชัย เปิดเผยอีกว่า ในวันนี้บริษัทได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) บมจ.ทีโอที เพื่อวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์และซอฟแวร์ทางด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อแบ่งปันความรู้ความเชี่ยวชาญในการผลิตอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในการสื่อสารให้มีความก้าวหน้า ซึ่งในอนาคตมีโอกาสที่จะผลิตเป็นอุปกรณ์ทางด้านการสื่อสารต่างๆอาทิ อุปกรณ์สำหรับเชื่อมต่ออินเตอร์เนต ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น เพื่อนำมาใช้ทดแทนอุปกรณ์ที่ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศได้
“ฟอร์ท และทีโอที มีการร่วมมือทางธุรกิจมาเป็นเวลานาน ซึ่งทางทีโอทีเป็นลูกค้าที่มีความสำคัญและมีการสั่งซื้อสินค้า FORTH อย่างต่อเนื่อง โดยในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดความสัมพันธ์ รวมถึงการแบ่งปันความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร ตลอดจนร่วมพัฒนาสินค้าที่เกี่ยวกับการสื่อสารเพื่อลดการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศได้ในอนาคต"นายพงษ์ชัย กล่าว
ด้านนายยงยุทธ วัฒนสินธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้มองถึงศักยภาพของ FORTH ที่เป็นบริษัทผู้ลงทุนทำวิจัยพัฒนาในนามของประเทศไทย และเพื่อลดการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศลงไม่ต่ำกว่า 10% โดยทีโอทีจะสั่งซื้ออุปกรณ์ปลายทางเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต อย่าง ONU,OLTE ลักษณะเป็นประเภทอุปกรณ์ เราเตอร์ (router) ซึ่งตั้งงบการซื้ออุปกรณ์ไว้ประมาณ 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ภายในไตรมาส 1/57 ซึ่ง FORTH จะมีสัดส่วนรายได้จากงานดังกล่าว 30-40%