ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม 307,035 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 3, 2014 16:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (27 – 31 มกราคม 2557) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ในสัปดาห์นี้ (5 วันทำการ) มีมูลค่ารวม 307,035 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 61,407 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 14% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 65% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 198,460 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 74,352 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 5,203 ล้านบาท หรือคิดเป็น 24% และ 2% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB236A (อายุ 9.4 ปี) LB176A (อายุ 3.4 ปี) และ LB155A (อายุ 1.3 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 14,565 ล้านบาท 13,181 ล้านบาท และ 8,397 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB14502B (อายุ 92 วัน) CB14218A (อายุ 14 วัน) และ CB14410A (อายุ 69 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 30,448 ล้านบาท 29,418 ล้านบาท และ 10,711 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) รุ่น HEMRAJ155A (A-) มูลค่าการซื้อขาย 354 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) รุ่น TUF147A (AA-) มูลค่าการซื้อขาย 303 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) รุ่น MINT155A (A) มูลค่าการซื้อขาย 273 ล้านบาท

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัวเพิ่มขึ้นตลอดทั้งเส้น ในช่วงประมาณ +1 ถึง +4 Basis Point (100 Basis Point มีค่าเท่ากับ 1%) ตามทิศทางการไหลออกของกระแสเงินทุนต่างชาติ ภายหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับลดขนาดวงเงินในการเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ (QE) ลงอีก 1 หมื่นล้านเหรียญ USD จากเดิม 7.5 หมื่นล้านเหรียญ USD / เดือน เป็น 6.5 หมื่นล้านเหรียญ USD / เดือน ซึ่งจะมีผลในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ในขณะที่จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำต่อไป นอกจากนี้ ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาวิกฤติการเงินในตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศแถบละตินอเมริกา อาทิเช่น ตุรกี และอาร์เจนติน่า ทำให้ตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรของกลุ่มประเทศในแถบเอเชียปรับตัวในแดนลบ จากปัจจัยภายนอกเหล่านี้ บวกกับประเด็นทางการเมืองภายในประเทศที่ยังคงมีแนวโน้มยืดเยื้อ และอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังจากเกิดเหตุปะทะกันระหว่าง 2 กลุ่มผู้ชุมนุมในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีแรงขายและเกิดการไหลออกของเงินทุนต่างชาติจากตลาดตราสารหนี้ไทย และมีส่วนทำให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรปรับตัวสูงขึ้น (ราคาพันธบัตรลดลง)

ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติมียอด ขายสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกัน 1,361 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 1,011 ล้านบาท และ ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี) 350 ล้านบาท ทางด้านนักลงทุนรายย่อยมียอดขายสุทธิ 236 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ