ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร STEC ที่ A- แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 5, 2014 09:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) ที่ระดับ “A-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะผู้นำตลาดของบริษัทที่เป็นหนึ่งในผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ 3 รายของประเทศ ตลอดจนสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ปริมาณงานที่ยังไม่ส่งมอบจำนวนมากและหลากหลาย และผลงานที่ได้รับการยอมรับมานานทั้งจากลูกค้าภาครัฐและเอกชน

อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความไม่แน่นอนทางการเมืองซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้แก่ธุรกิจยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนทางการเมืองอาจทำให้การประมูลโครงการใหม่ของภาครัฐเกิดความล่าช้าขึ้นได้ นอกจากนี้ จุดแข็งของบริษัทยังถูกลดทอนลงจากความเสี่ยงของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่มีความผันผวนและเป็นวงจรขึ้นลงด้วย

ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่า บริษัทจะยังคงดำเนินมาตรการควบคุมต้นทุนการดำเนินงานต่อไป นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะดำรงความแข็งแกร่งทางการเงินเพื่อลดทอนความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนการก่อสร้างและ/หรือจากปัญหาต้นทุนโครงการที่สูงเกินประมาณการเนื่องจากความล่าช้าของโครงการและจากปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่คาดไม่ถึง

บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ก่อตั้งในปี 2505 โดยกลุ่มตระกูลชาญวีรกุล และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2535 บริษัทเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างชั้นนำของประเทศซึ่งมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในโครงการก่อสร้างของทั้งภาครัฐและเอกชนโดยได้รับใบอนุญาตประเภทผู้รับเหมาชั้นหนึ่งจากหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง บริษัทเป็นหนึ่งในผู้รับเหมาเพียงไม่กี่รายที่ผ่านเกณฑ์เบื้องต้นในการได้รับสิทธิเข้าประมูลโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ เมื่อพิจารณาจากผลงานที่ได้รับการยอมรับและการสนับสนุนจากสถาบันการเงินหลายแห่งแล้วน่าจะทำให้บริษัทมีโอกาสชนะการประมูลโครงการขนาดใหญ่ในอนาคตอีกหลายโครงการ นอกเหนือจากงานก่อสร้างสาธารณูปโภคแล้ว บริษัทยังมีความชำนาญในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและโรงงานปิโตรเคมี และยังมีความสามารถในการรับงานท่อและงานประกอบและติดตั้งโครงสร้างเหล็กด้วย โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาบริษัทได้รับงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าจำนวน 3 โรงซึ่งคิดเป็นมูลค่าทั้งหมดมากกว่า 20,000 ล้านบาท

ณ เดือนกันยายน 2556 บริษัทมีมูลค่างานในมือที่ยังไม่ส่งมอบจำนวน 58,511 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 33.2% จาก 43,930 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2555 ซึ่งมูลค่าของงานที่ยังไม่ส่งมอบคิดเป็น 3 เท่าของรายได้ของบริษัทในปี 2555 ทั้งนี้ มูลค่างานในมือจำนวนมากจะเป็นหลักประกันรายได้ให้แก่บริษัทอย่างน้อยในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยประมาณ 47% ของมูลค่างานที่ยังไม่ส่งมอบเป็นงานก่อสร้างสาธารณูปโภค อีก 30% เป็นงานก่อสร้างอาคาร และ 19% เป็นงานก่อสร้างโรงไฟฟ้า รายได้ของบริษัทในปี 2555 อยู่ที่ 19,872 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% จากปี 2554

ในขณะที่รายได้ของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 เพิ่มขึ้นเป็น 16,328 ล้านบาทจาก 14,429 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2555 ทั้งนี้ รายได้จากงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าคิดเป็น 40%-47% ของรายได้ในปี 2555 ตลอดจนถึงช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 ส่วนรายได้จากงานก่อสร้างสาธารณูปโภคอยู่ที่ 43% ของรายได้รวมในช่วงเดียวกัน

สถานะทางการเงินของบริษัทยังคงเข้มแข็งซึ่งเป็นผลมาจากความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งและระดับภาระหนี้สินที่ต่ำของบริษัท บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้อยู่ที่ระดับ 7%-9% ในช่วงปี 2553-2556 โดยเพิ่มขึ้นจาก 5% ในปี 2551 และ 6% ในปี 2552 การที่บริษัทมีความสามารถในการควบคุมต้นทุนการดำเนินงานและมีอำนาจต่อรองกับผู้จัดหาวัตถุดิบน่าจะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรของบริษัทให้ดียิ่งขึ้น อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 10% มาตั้งแต่ปี 2552

ส่วนสภาพคล่องก็อยู่ในระดับสูง บริษัทมีการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ไม่มากประกอบกับความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานก็ไม่สูงมากนัก เนื่องจากบริษัทมีเงินทุนดำเนินงานบางส่วนจากเงินรับล่วงหน้าตามสัญญาก่อสร้างจากเจ้าของโครงการ นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถสั่งวัสดุอุปกรณ์ล่วงหน้าโดยใช้เครดิตของผู้จัดส่งวัสดุอุปกรณ์ได้ด้วย

ทริสเรทติ้ง คาดว่า รายได้รวมของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 20,000-25,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2556-2559 และยังคาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 7% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยเงินทุนจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ 1,200-1,500 ล้านต่อปีในปี 2556-2559 ทั้งนี้ อันดับเครดิต ณ ปัจจุบันของบริษัทได้พิจารณาถึงกรณีที่บริษัทอาจมีการลงทุนในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ซึ่งคาดว่าจะทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริษัทมีเงินสดสุทธิหลังหักภาระหนี้คงเหลือจำนวนมาก บริษัทจึงยังมีความสามารถในการก่อหนี้สำหรับการลงทุนในอนาคตได้ระดับหนึ่ง โดยคาดว่าแม้บริษัทจะลงทุนโดยใช้เงินกู้ยืม บริษัทก็ยังคงสามารถรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้ต่ำกว่าระดับ 30% ไว้ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ