ส่วนรายได้ในปี 56 คาดใกล้เคียงปี 55 ที่ราว 9 พันล้านบาท พลาดจากเป้าหมายไว้ที่ 9.5 พันล้านบาท เป็นผลจากการไม่มีนโยบายรถคันแรก และภาพรวม แต่อย่างไรก็ตามกำไรไม่น่าจะต่ำกว่าปี 55 ที่มีกำไรสุทธิ 815 ล้านบาท เนื่องจากต้นทุนการผลิตดีขึ้จากการผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้อัตรากำไร(มาร์จิ้น)ดีขึ้นตามไปด้วย
"ปี 56 net sale จะลดลงจากปีก่อนแต่อัตรากำไรขั้นต้นน่าจะดีขึ้นจากปี 55 ที่ราว 17-18% แต่ปี 56 ดีขึ้น ทำให้กำไรสุทธิปี 56 ใกล้เคียงกับปี 55 แม้รายได้ต่ำกว่าเล็กน้อย ซึ่งยอดขายที่ต่ำกว่าเป้า หลักๆ เป็นประเด็นรถคันแรกซึ่งหมดครึ่งแรกปี 56 " นายณัฐขจร กล่าว
ปัจจุบัน รายได้ของบริษัทจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่เป็นไปตามทิศทางของการผลิตรถยนต์ที่ชะลอตัวลง และในส่วนรถแทรกเตอร์ที่ปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้น ดังนั้น เมื่อรวม 2 ส่วนแล้วรายได้ปีนี้ก็อาจจะทำได้ใกล้เคียงกับปี 56 หรือต่ำกว่าไม่มาก
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 1/57 คำสั่งซื้อขากลูกค้ายังไม่ได้ดีขึ้นจากไตรมาส 4/56 อย่างชัดเจน โดยมองว่านโยบายรถคันแรกที่สิ้นสุดลงไปมีผลกระทบต่อเนื่องค่อนข้างมาก แต่คาดว่าภาพรวมอุตสาหกรรมจะกลับมาสู่ภาวะปกติในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ซึ่งครึ่งปีแรกเป็นการปรับฐาน จึงมีความเป็นไปได้ครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวขึ้น แต่ยอมรับว่าทั้งปีไม่น่าจะเท่าปี 56 เพราะครึ่งปีแรกยังรับผลกระทบค่อนข้างมาก
สำหรับงบลงทุนในปี 57 คาดว่าจะใช้ราว 800-900 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนต่อเนื่องจากปีก่อน และอีกส่วนหนึ่งลงทุนในสายการผลิตใหม่ คือ เพลาข้าง(Axle Shaft)สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่มากกว่า 1 ตัน และการผลิตชิ้นส่วนรถแทรกเตอร์ให้ลูกค้าหลักคือคูโบต้า
นายณัฐขจร คาดว่า ปีนี้บริษัทจะมียอดขายจากการผลิตชิ้นส่วนรถแทรกเตอร์ให้กับคูโบต้าเข้ามาช่วยยอดขายในส่วนของคูโบต้าเพิ่มอีก 20% จากปีก่อนที่ผลิตกว่า 6 หมื่นคัน ปีนี้ยอดผลิตจะเพิ่มขึ้นอีก 20% โดยปีนี้สัดส่วนรายได้จากยอดขายในส่วนคูโบต้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 18-19% จากปีก่อน 15%
"ตามที่คุยกับลูกค้าคูโบต้ามองว่าปีนี้จะยังเติบโตขึ้นได้โดยเฉพาะการโตจากส่งออกในปีนี้ เพราะปี 56 เป็นการโตในประเทศมากกว่า แต่ปีนี้น่าจะมีโอกาสส่งออกได้อีกในส่วนของคูโบต้า" นายณัฐขจร กล่าว
ส่วนการอ่อนค่าของเงินบาทนั้น บริษัทไม่ได้รับผลกระทบในส่วนการลงทุนจะทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้แล้ว ด้านค่าใช้จ่ายต้นทุนวัตถุดิบเหล็กส่วนใหญ่จะมีข้อตกลงกับลูกค้าอยู่แล้วในการปรับราคา ปกติจะพิจารณาปรับประมาณ 3 หรือ 6 เดือนว่าต้นทุนวัตถุดิบปรับขึ้นหรือลง โดยสามารถส่งผ่านต้นทุนไปที่ลูกค้าได้