"ตอนนี้แค่เดือนเดียวมองว่าเร็วเกินไปที่จะปรับเป้าหมาย และยังเชื่อว่าปัญหาจำนำข้าวคงจะไม่ยืดเยื้อไป 4-6 เดือนข้างหน้า ถ้ายืดยาวก็คงจะลำบาก และรัฐบาลก็คงจะอยู่ไม่ได้"นายสันติ กลื่าว
สำหรับพอร์ตสินเชื่อของบริษัทฯในปีนี้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1,000 ล้านบาท เติบโตกว่า 20% จากสิ้นไตรมาส 3/56 พอร์ตสินเชื่ออยู่ที่ 776 ล้านบาท และในไตรมาส 4/56 พอร์ตสินเชื่อยังขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเรายังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)จะพยายามรักษาระดับไว้ จากสิ้นปี 56 อยู่ที่ 6%
"NPL ของบริษัทฯจะมี 2 ส่วนด้วยกัน คือ ค้างค่างวดเกิน 3 งวดจะหยุดรับรู้รายได้ แต่ยังไม่เลิกสัญญาซึ่งจะมีประมาณ 3% ซึ่งพวกนี้เกินกว่าครึ่งจะกลับมาเป็นลูกค้าปกติ โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ฤดูนาปีที่จะมีรายได้เยอะและมีการชำระเยอะ และมีพวกที่ยกเลิกสัญญาไปแล้วอีก 3% รวมกันก็ 6% ซึ่งเป็นตัวเลขของปี 56 ที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 55 ที่มี NPL ประมาณ 5% เศษ"นายสันติ กล่าว
นายสันติ กล่าวอีกว่า บริษัทได้รับผลกระทบทางอ้อมจากปัญหาโครงการรับจำนำข้าวของภาครัฐ เนื่องจากบริษัทปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มที่รับจ้างเกี่ยวข้าวให้กับชาวนา เพื่อซื้อรถเกี่ยวข้าว เมื่อชาวนาไม่ได้รับเงินจากรัฐบาลก็ทำให้เกิดปัญหกับการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้กับผู้รับจ้างเกี่ยวข้าวล่าช้าต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน มิ.ย.56
"ตรงนี้มันทำให้เราได้รับผลกระทบทางอ้อม แต่ก็ไม่มากเท่าไร จากกรณีที่กลุ่มที่รับจ้างเกี่ยวข้าวที่มาของสินเชื่อรถเกี่ยวข้าวได้จ่ายค่างวดได้ไม่เต็มงวด...แต่เขาก็เริ่มที่จะปรับตัว บางคนก็ให้ผู้ว่าจ้างจ่ายเลยเมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว จากเดิมที่ได้ขายข้าวได้แล้วค่อยมาจ่ายก็ได้"นายสันติ กล่าว
"รถเกี่ยวข้าวเป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพของเขา ทำให้เขาก็มีรายได้ เชื่อว่ายังไงเขาก็จะไม่ปล่อยให้มันถูกยึดไปหรอก อย่างเช่นรถเกี่ยวข้าวคันหนึ่งราคา 2 ล้านบาท ดาวน์ 30% ก็ประมาณ 6 แสนบาท บางคนเก็บตังค์มาทั้งชีวิต ซึ่งถ้ารถล้อหมุนเขาก็ได้ตังค์ เราปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าแล้วเราก็สนับสนุนทุกทางให้เขาประสบความสำเร็จในอาชีพ"นายสันติ กล่าว
สำหรับปัญหาในโครงการรับจำนำข้าวที่เกิดขึ้นนั้น นายสันติ แสดงความเห็นว่า ปัจจุบันชาวนาแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ 3 ระดับ โดยกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนหนักที่สุดคือกลุ่มที่มีพื้นที่ปลูกข้าวต่ำกว่า 50 ไร่และมีปัญหาสภาพคล่อง ส่วนกลุ่มชาวนาที่ปลูกข้าวบนพื้นที่ 80-100 ไร่ขึ้นไปอาจได้รับผลกระทบบ้าง แต่ก็ยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้จากสภาพคล่องที่พอมีอยู่บ้าง และชาวนาอีกส่วนเป็นพวกที่ปลูกข้าวคุณภาพดี ซึ่งยังมีสภาพคล่องอยู่จากการมีตลาดรองรับแน่นอน
"ชาวนาระดับล่างจะไม่ need ที่ได้ตันละ 15,000 บาท แต่ need ในเรื่องที่ขายข้าวแล้วต้องได้รับเงิน เท่าที่ทราบข้อมูลจากข่าวสารที่ออกมาเห็นว่า รัฐบาลค้างชาวนาทั้งระบบประมาณ 130,000 ล้านบาท...แต่เชื่อว่าสุดท้ายรัฐฯคงจะต้องไปลงที่แบงก์รัฐฯแบงก์ใดแบงก์หนึ่งก่อน แต่หากมองในแง่ของแบงก์โดยรวมทางเขาก็มีทางเลือกในการปล่อยสินเชื่อที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า"นายสันติ กล่าว