นายโนริ กล่าวว่า มีแผนที่จะเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดของสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งของไทย ญี่ปุ่น และบริษัทข้ามชาติอื่นๆ ด้วยการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายระดับโลกของ MUFG และ ความเชี่ยวชาญระดับสากลในการทำธุรกิจธนาคาร โดยกรุงศรีจะมุ่งให้การสนับสนุนลูกค้าขนาดใหญ่ในการขยายธุรกิจไปต่างประเทศโดยเฉพาะในเขตลุ่มแม่น้ำโขง การขยายผลิตภัณฑ์และบริการไปสู่กลุ่มธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องต่อเนื่องกันเป็นห่วงโซ่ หรือ supply chain รวมถึง cross sell บริการทางการเงินที่หลากหลายแก่พนักงานของบริษัทลูกค้าขนาดใหญ่เหล่านี้
สำหรับกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี กรุงศรีมุ่งสร้างความแข็งแกร่งและการรับรู้แก่แบรนด์กรุงศรี SME กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ขณะเดียวกัน เราก็จะใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของธุรกิจในเครือด้านสินเชื่อรายย่อย เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในวงกว้าง เพื่อเป็นทางเลือกทางการเงินให้กับลูกค้า เช่นเดียวกับการเพิ่มประสิทธิภาพในขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้สะดวกรวดเร็วขึ้น
ในส่วนของการขยายธุรกิจสู่ระดับภูมิภาค กรุงศรีกำลังเตรียมความพร้อมในการเติบโตไปพร้อมกับกลุ่มประเทศ CLM ผ่านการสนับสนุนของ BTMU ซึ่งปัจจุบัน BTMU มีสาขาอยู่ใน 13 ประเทศหลักของภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย รวมถึงประเทศกัมพูชา พม่า เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์
"ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทายในปีนี้ กลยุทธ์ต่างๆ ที่กำลังดำเนินอยู่ จะอยู่บนพื้นฐานของการพิจารณาให้สินเชื่ออย่างระมัดระวัง และการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะเติบโตอย่างมีคุณภาพ พร้อมๆ ไปกับการดำเนินกลยุทธ์ทั้ง 5 ประการ จะรวมธนาคาร BTMU สาขากรุงเทพฯ เข้ากับธนาคารกรุงศรีอยุธยา ตามกฎระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้สถาบันการเงินดำเนินการตามนโยบายสถาบันการเงิน 1 รูปแบบ การรวมกิจการนี้คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี"
สำหรับ บริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัด หรือ"ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ" ในปี 57 ยังคงมีแผนที่จะสร้างความแข็งแกร่งในธุรกิจนี้ต่อไป ด้วยการขยายเครือข่ายด้านการบริการ และนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง หลังจากปีที่ผ่านมาได้ขยายการให้บริการด้านผลิตภัณฑ์ต่างๆสู่เจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก หรือกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการของธนาคารได้