ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม 331,601 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 10, 2014 16:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (3 – 7 กุมภาพันธ์ 2557) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ในสัปดาห์นี้ (5 วันทำการ) มีมูลค่ารวม 331,601 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 66,320 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 8% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 65% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 216,018 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 71,711 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 8,431 ล้านบาท หรือคิดเป็น 22% และ 3% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB176A (อายุ 3.4 ปี) LB196A (อายุ 5.4 ปี) และ LB155A (อายุ 1.3 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 22,163 ล้านบาท 8,590 ล้านบาท และ 8,122 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB14225A (อายุ 14 วัน) CB14508B (อายุ 91 วัน) และ BOT161A (อายุ 1.9 ปี) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 33,519 ล้านบาท 27,980 ล้านบาท และ 12,097 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) รุ่น BAY142B (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 1,064 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด รุ่น TLT155A (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 829 ล้านบาท และหุ้นกู้ของธนาคาร เกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) รุ่น KK144A (A-) มูลค่าการซื้อขาย 357 ล้านบาท

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น / ลดลงในช่วงประมาณ -2 ถึง +1 Basis Point (100 Basis Point มีค่าเท่ากับ 1%) ทั้งนี้กระแสเงินทุนต่างชาติยังคงไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยทั้งในและนอกประเทศ โดยในช่วงที่ผ่านมา สหรัฐฯ มีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ที่น่าสนใจออกมา อาทิเช่น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เขตชิคาโก ในเดือน ม.ค. ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ แต่ดัชนีภาคการผลิต ISM ของสหรัฐฯ กลับปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก ซึ่งทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจจะยังไม่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง และเริ่มได้รับผลกระทบจากการลดขนาดของวงเงินตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE) ของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ส่งผลให้อาจมีการชะลอการลดขนาด QE ลงในการประชุมครั้งถัดๆ ไป สำหรับปัจจัยภายในประเทศ หลายฝ่ายเริ่มกังวลต่อสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ดังจะเห็นได้จาก การปรับลดประมาณการณ์ GDP ปี 2557 จากเดิม 4% เป็น 3% ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) บวกกับตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทย ในเดือน ม.ค. ที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และยังเป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบ 26 เดือน นับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 54 ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้มีแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติออกมาค่อนข้างมาก แต่ทั้งนี้ ยังคงมีแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันภายในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เข้ามาตลอดทั้งสัปดาห์

ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติมียอด ขายสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกัน 11,807 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 8,889 ล้านบาท และ ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี) 2,918 ล้านบาท ทางด้านนักลงทุนรายย่อยมียอดซื้อสุทธิ 187 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ