ทริส ให้เครดิตหุ้นกู้ชุดใหม่ CPN 1.5 พันลบ.ที่ A+/แนวโน้ม Positive

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 11, 2014 17:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ในวงเงินไม่เกิน 1,500 ล้านบาทที่ระดับ “A+" ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A+" ด้วย โดยแนวโน้มยังคง “Positive" หรือ “บวก" โดยเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่จะใช้สำหรับการขยายการลงทุน และชำระคืนเงินกู้เดิม

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำในธุรกิจศูนย์การค้า ตลอดจนผลงานในการบริหารศูนย์การค้าที่มีคุณภาพสูง กระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากรายได้ค่าเช่าและค่าบริการ และนโยบายทางการเงินที่มีความระมัดระวัง ทั้งนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความต้องการเงินลงทุนจำนวนมากเพื่อใช้รองรับแผนการขยายธุรกิจของบริษัทในช่วงปี 2557-2560 ด้วย

ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive" หรือ “บวก" สะท้อนถึงความสำเร็จของศูนย์การค้าที่เปิดใหม่ของบริษัท และผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

ทั้งนี้ อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุน (รวมค่าเช่าที่ดินตลอดอายุสัญญาเช่า) ให้อยู่ในระดับ 55%-60% แม้บริษัทจะมีแผนการใช้เงินลงทุนจำนวนมากก็ตาม ในทางตรงข้าม หากสถานะทางการเงินของบริษัทถดถอยลงอย่างมากก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องมีการปรับลดอันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตลง

CPN เป็นผู้พัฒนาศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศโดยมีตระกูลจิราธิวัฒน์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 29% รองลงมาคือ บริษัท เซ็นทรัล โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกของไทย (26%) การเป็นสมาชิกในเครือเซ็นทรัลทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการมีห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเป็นร้านค้าหลักภายในศูนย์การค้าของบริษัท ณ เดือนธันวาคม 2556 บริษัทเป็นผู้พัฒนาและบริหารศูนย์การค้าจำนวน 23 แห่งในเขตกรุงเทพฯ และในจังหวัดสำคัญโดยมีพื้นที่ค้าปลีกรวม 1,287,983 ตารางเมตร (ตร.ม.) บริษัทคงความเป็นผู้นำในธุรกิจบริหารศูนย์การค้าในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง

บริษัทมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งจากการมีอัตราการเช่าพื้นที่ในระดับสูงและรายได้ค่าเช่าของศูนย์การค้าเดิมที่เติบโตอย่างสม่ำเสมอ บริษัทมีอัตราการเช่าศูนย์การค้าโดยเฉลี่ยที่ระดับ 96.5% ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยศูนย์การค้าที่เปิดใหม่ ได้แก่ เซ็นทรัล พลาซา อุบลราชธานี เซ็นทรัล เฟสติวัล เชียงใหม่ และเซ็นทรัล เฟสติวัล หาดใหญ่มีอัตราการเช่าพื้นที่เท่ากับ 99.9%, 92.2% และ 77.5% ตามลำดับ

ณ เดือนธันวาคม 2556 รายได้ค่าเช่าของศูนย์การค้าเดิมเติบโต 29% ในปี 2555 จาก 9% ในปี 2554 และเติบโตลดลงเหลือ 13% ในปี 2556 รายได้ค่าเช่าและบริการของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 เพิ่มขึ้น 18% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 13,300 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากการปรับค่าเช่าเพิ่มขึ้นในทุกศูนย์การค้า รายได้ค่าเช่าและบริการจากศูนย์การค้าหลัก 2 แห่งคือ เซ็นทรัลเวิลด์ และเซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว เติบโตแห่งละ 10% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556

อัตรากำไรจากการดำเนินงานซึ่งวัดจากอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายของบริษัทเท่ากับ 53.61% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 เพิ่มขึ้นจาก 48.89% ในปี 2555 และ 42.24% ในปี 2554 โดยความสามารถในการทำกำไรและผลการดำเนินงานดีขึ้นในทุกศูนย์การค้า กระแสเงินสดของบริษัทในปี 2555 ได้รับแรงหนุนจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งขึ้นและการให้เช่าช่วงอาคารสำนักงาน “ดิ ออฟฟิสเซส แอท เซ็นทรัลเวิลด์" แก่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ทำให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมเท่ากับ 24.44% ในปี 2555 และยังคงแข็งแกร่งที่ 21.5% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 นอกจากนี้ อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทดีขึ้นเป็น 47.71% ณ เดือนกันยายน 2556 จาก 58.71% ในปี 2555 และ 63.95% ในปี 2554

ในอีก 3 ปีข้างหน้า บริษัทมีความต้องการใช้เงินลงทุนประมาณ 10,000-14,000 ล้านบาทต่อปีเพื่อพัฒนาและเปิดศูนย์การค้าใหม่ ดังนั้น ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรักษาอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนให้ต่ำกว่า 1 เท่าเอาไว้ได้ โดยบริษัทจะจัดหาเงินลงทุนดังกล่าวจากหลายแหล่ง ทั้งจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน การกู้ยืม และการขายสินทรัพย์ให้แก่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ