รวมทั้งเสนอการขยายโรงกลั่นใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมด้วย เนื่องจากโรงกลั่นเดิมมีขนาดไม่ใหญ่ มี 2โรง รวมกำลังการกลั่น 2 หมื่นบาร์เรล/วัน
"โครงการที่พม่าคาดว่าเป็นโครงการระยะยาว ซึ่งตอนนี้เชื่อมั่นว่าเราจะมีโอกาสที่จะช่วยให้เกิดความมั่นคงในด้านพลังงานของพม่า ที่กำลังเปิดประเทศ เศรษฐกิจกำลังขยายตัว ที่ความต้องการพลังงานจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว"นายวีรศักดิ์กล่าว
นายวีรศักดิ์ เชื่อว่าไทยออยล์มีความได้เปรียบจากที่อยู่ในธุรกิจโรงกลั่นนานและมีความเชี่ยวชาญ อีกทั้งสองประเทศอยู่ไม่ไกล มีความคล้ายคลึงด้านวัฒนธรรม
สำหรับโครงการลงทุนเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ Wax ในประเทศอินโดนีเซีย นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาในรายละเอียดโครงการนี้ หลังจากเมื่อปี 56 บริษัทได้ร่วมลงนาม HOA(Heads of Agreement) กับเปอร์ตามีน่า และคาดว่าจะมีการตัดสินใจในการลงทุนปลายปี 57นี้ หากตัดสินใจลงทุนก็จะใช้เวลาก่อสร้างโรงงานนาน 2 ปี
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ Wax ในอินโดนีเซียมีตลาดที่กว้าง ที่ใช้ทำผ้าบาติก ยางรถยนต์ ยาขัดรองเท้า และ เทียนไข
*คาดผลงานปี 57 ดีขึ้นตามแนวโน้มค่าการกลั่น
นายวีรศักดิ์ คาดว่า ผลประกอบการของบริษัทดีขึ้นกว่าปีก่อนเพราะแนวโน้มค่าการกลั่นปีนี้ดีขึ้นจากปีก่อน เพราะความต้องการน้ำมันในเอเชียแปซิฟิคสูงขึ้นแม้ว่าราคาในตลาดโลกจะอ่อนตัวลง โดยคาดปีนี้ราคาน้ำมันอยู่ที่เฉลี่ย 102 เหรียญ/บาร์เรล จากปีก่อนเฉลี่ย 105 เหรียญ/บาร์เรล ส่วนราคาพาราไซลีนคาดปีนี้อ่อนตัวจากกำลังผลิตที้เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ราคาเบนซีนน่าจะทรงตัว
อีกทั้ง โครงการเพิ่มประสิทธิภาพใช้พลังงานของหน่วยกลั่นน้ำมันดิบที่ 3 (CDU3) ของบริษัทจะแล้วเสร็จในปลายเดือนก.ค.57 ทำให้ลดการใช้เชื้อเพลิงได้ถึง 15% หรือลดกระแสไฟฟ้าประมาณ 20 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 596 ล้านบาท/ปี ซึ่งนับว่ามีนัยสำคัญ และยังสามารถเปลี่ยนแนฟทาเป็นน้ำมันอากาศยานที่มีมูลค่าสูงเพิ่มขึ้น หรือประมาณ 530 ล้านบาท/ปี โครงการนี้จะช่วยให้ผลประกอบการครึ่งปีหลังมี Upside จากเดิม
รวมทั้งโครงการปรับปรุงหน่วยกลั่นสูญญากาศที่ 2 (HVU-2)โดยทำการติดตั้งหอกลั่นที่ใช้ความดันต่ำ และอุปกรณ์ต่างๆจาก Shell Deep Cut Technology ทำให้สามารถกลั่นน้ำมันดิบที่มีปริมาณกำมะถันสูงน้อยลง ช่วยทำให้มี Feed stock มากขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลจะเพิ่มมากขึ้นอีก 2%
อย่างไรก็ตาม โรงกลั่นน้ำมันดิบหน่วยที่ 3 (CDU3) จะปิดซ่อมบำรุงใหญ่ ระยะเวลา 55 วัน ช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค. ทำให้กำลังการกลั่นลดลงมาที่ 2.5 แสนบาร์เรล/ปี หรือเหลือ 95% จากเดิมผลิต 2.8 แสนบาร์เรล/ปี หรือ 101-102% ของกำลังการผลิต 100% ที่ 2.75 แสนบาร์เรล/ปี
สำหรับงบลงทุนในช่วง 3 ปีนี้(ปี 57-59) บริษัทมีแผนจะใช้เฉลี่ย 300-500 ล้านเหรียญ/ปี โดยโครงการใหญ่ ได้แก่ โครงการผลิตสาร LAB ซึ่งบริษัท ไทยพาราไซลีน จำกัด บริษทย่อยของ TOP (ถือ 75%)ร่วมทุนกับบริษัท มิตซุยแอนด์คัมปานี จำกัด(25%) ใช้งบลงทุน 400 ล้านเหรียญ โครงการนี้จะทำให้ไทยเป็นฐานการผลิต LAB ที่เป็นสารตั้งต้นสารชะล้าง ผงซักฟอก โดยจะจำหน่ายในประเทศ 60%ของกำลังการผลิต และส่งออกในภูมิภาคอาเซียน 40% นอกจากนี้จะใช้ลงทุนโรงไฟฟ้า 2 แห่ง กำลังผลิตรวม 230 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่ใช้ภายในโรงงาน ใช้งบลงทุน 400 ล้านเหรียญ นอกเหนือจากนั้นเป็นงบลงทุนโครงการขนาดเล็ก
ปัจุบัน บริษัทมีกระแสเงินสด รวมเงินกู้ทั้งสิ้น 4 หมื่นล้านบาท และยังมีวงเงินออกหุ้นกู้ 1 พันล้านเหรียญที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นไว้แล้ว แต่รอจังหวะการออกที่เหมาะสม และความต้องการใช้เงินลงทุน อย่างไรก็ตาม จากการออกหุ้นกู้วงเงิน 1 พันล้านเหรียญเมื่อปี 56 อายุ 10 ปี และอายุ 30 ปี บริษัทจะมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลียนจากค่าเงินบาทอ่อนตัว แต่ก็เป็นเพียงการขาดทุนทางบัญชีเท่านั้น