ทั้งนี้ บริษัทยังคงแผนการดำเนินธุรกิจและเปิดโครงการตามกำหนดการเดิม โดยมองปัญหาการเมืองเป็นโอกาสของการพัฒนาแนวราบ เพราะส่วนใหญ่อยู่เขตเมืองชั้นนอก นอกจากจะไม่กระทบในการก่อสร้าง ผู้รับเหมาสามารถเข้าไซต์งานได้ปกติแล้ว ผู้บริโภคยังสนใจเลือกซื้อบ้านเดี่ยวหรือทาวน์เฮ้าส์มากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงความวุ่นวายในเขตเมืองชั้นใน ทั้งยังได้อานิสงส์การชะลอโครงการลงทุนของภาครัฐ ทำให้สถานการณ์ขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมก่อสร้างได้แรงงานกลับมามากขึ้น
สำหรับโครงการของโกลเด้นแลนด์ในไตรมาสแรกนั้น มีทั้งสิ้น 3 โครงการได้แก่ โกลเด้นอเวนิว แจ้งวัฒนะ-ติวานนท์โกลเด้น วิลเลจบางนา-กิ่งแก้วและโกลเด้น ทาวน์ปิ่นเกล้า-จรัญฯ นับเป็นการแนะนำแบรนด์ทั้ง 3 ของโกลเด้นแลนด์เจเนอเรชั่นใหม่ให้กับตลาดครบทั้ง 3 แบรนด์เป็นครั้งแรก
โกลเด้นอเวนิวแจ้งวัฒนะ-ติวานนท์โครงการผสมผสานขนาด 51 ไร่ มีจำนวนทั้งสิ้น 418 ยูนิต มูลค่าโครงการ 1,300 ล้านบาท , โกลเด้น วิลเลจ บางนา-กิ่งแก้ว โครงการบ้านเดี่ยวขนาด 44ไร่ มีจำนวนทั้งสิ้น 186 ยูนิต มูลค่าโครงการ 1,000 ล้านบาท และโกลเด้น ทาวน์ ปิ่นเกล้า-จรัญฯ โครงการทาวน์โฮม 2 ชั้นและ 3 ชั้น ขนาด 42 ไร่ มีจำนวนทั้งสิ้น 415ยูนิต มูลค่าโครงการ1,100ล้านบาท
นายแสนผิน กล่าวเพิ่มเติมถึงภาพรวมอสังหาริมทรัพย์แนวราบว่า จากยอดการจดทะเบียนการจัดสรรที่อยู่อาศัยปี 56 จะเห็นได้ว่ายอดจดทะเบียนที่เพิ่มขึ้นจะเป็นแนวราบทั้งหมด ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยลบต่างๆ ที่เกิดนั้นจะไม่ส่งผลกระทบกับความต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงแต่ส่งผลกระทบโดยตรงกับนักลงทุนและนักเก็งกำไร ซึ่งมุ่งความสนใจไปที่คอนโดมิเนียมเป็นหลักซึ่งนักลงทุนเหล่านี้คงระมัดระวังความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆดังนั้นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์คงจะเน้นยอดขายที่มีความแน่นอนมากกว่าเพื่อเป็นเปลี่ยนสินทรัพย์หรือที่ดินมาเป็นรายได้ให้ได้มากที่สุดเพื่อรองรับรายจ่ายคงที่และสร้างสภาพคล่องให้กับบริษัท
สำหรับแนวโน้มการขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นจากแนวโน้มวัสดุก่อสร้างสำเร็จรูปแทนการก่ออิฐฉาบปูนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้ว่าในหลายบริษัทอสังหาริมทรัพย์เพิ่มกำลังผลิตโดยใช้วัสดุก่อสร้างสำเร็จรูปมากขึ้นบางบริษัทถึงกับขยายโรงงานเพื่อเพิ่มการผลิต