อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศของ BAY สะท้อนถึงการที่ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่ BAY จะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษนอกเหนือจากการสนับสนุนในการดำเนินงานปกติ(extraordinary support) จากสถาบันการเงินซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ, Ltd.’s (BTMU, อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ ‘A’ /แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) หากมีความจำเป็น ซึ่งฟิทช์ได้พิจารณาจากการที่ BAY มีบทบาทที่สำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อธนาคารแม่ และ BTMU เป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ของ BAY และเป็นผู้ควบคุมการบริหารงาน
อีกทั้งยังคาดว่า BAY และ BTMU จะมีความเชื่อมโยงการดำเนินงานให้สอดคล้องกันมากขึ้น (integration) ภายหลังจาก BAY และ BTMU สาขากรุงเทพฯ ได้เข้ารวมกิจการกันภายในสิ้นปี 2557
แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของ BAY นั้นสอดคล้องกับแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารแม่ โดยอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BAY สะท้อนถึงผลการดำเนินงานอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เงินกองทุนของธนาคารที่อยู่ในระดับปานกลางและคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารที่ปรับตัวแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงขนาดสินทรัพย์ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เครือข่ายธุรกิจ (franchise) ภายในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้น และการมีธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น ภายหลังจากการรวมกิจการกันของ BAY และ BTMU สาขากรุงเทพฯ
ถึงแม้ BAY น่าจะยังคงเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ในประเทศไทย แต่ส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านขนาดสินทรัพย์น่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 10% จากประมาณ 7% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 สินเชื่อของธนาคารน่าจะมีการกระจายตัวมากขึ้น โดยมีสัดส่วนของสินเชื่อสำหรับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และ กลุ่มสินเชื่อรายย่อยที่ 40 %, 20 % และ 40 % ของสินเชื่อรวม ตามลำดับ (เทียบกับสิ้นปี 2556 ที่ 26 %, 24 % และ 50 %)
ฟิทช์เชื่อว่าปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมการดำเนินงานที่อ่อนแอลง และหนี้สินภาคครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้น อาจส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรและคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารปรับตัวอ่อนแอลงได้ อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่า อัตราส่วนสำรองหนี้สูญที่อยู่ในระดับสูงที่ 141% ณ สิ้นปี 2556 รวมถึงเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ระดับ 11% ณ ครึ่งปีแรกของปี 2556 น่าจะช่วยรองรับความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง
การระดมทุน (funding) และสภาพคล่องโดยรวมของธนาคารน่าจะยังคงอยู่ในระดับที่อ่อนแอกว่าธนาคารพาณิชย์ใหญ่รายอื่นในประเทศ เนื่องจากธนาคารน่าจะยังคงมีการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากตลาดทุน (wholesale funding) และมีอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากที่สูงกว่า ในขณะที่อัตราส่วนสภาพคล่องของธนาคารอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่า BAY สามารถพึ่งพาเงินทุนจากธนาคารแม่ หรือBTMU ซึ่งจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวได้
ส่วนปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต ได้แก่ การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ BAY ไม่น่าจะเกิดขึ้นเนื่องจากปัจจุบันอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ BAY อยู่ในระดับเดียวกับเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทย (Country Ceiling) ในขณะเดียวกันอันดับเครดิตภายในประเทศของ BAY ก็อยู่ในระดับที่สูงสุดของอันดับเครดิตภายในประเทศ การเปลี่ยนแปลงไปในทางลบของอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ BTMU จะส่งผลกระทบในทิศทางเดียวกันต่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตสนับสนุน และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ BAY นอกจากนี้อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากสัดส่วนการถือหุ้น หรือระดับการสนับสนุนของ BTMU ต่อ BAY ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ด้วยปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากสภาพแวดล้อมการดำเนินงานในปัจจุบัน การปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BAY ไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้นถึงระยะปานกลาง ในระยะปานกลางการเข้าควบรวมกิจการกับ BTMU อาจส่งผลให้โครงสร้างของธนาคารโดยรวมปรับตัวดีขึ้น ในขณะเดียวกันหากธนาคารสามารถรักษาระดับกำไรและคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง และมีการปรับตัวดีขึ้นของระดับเงินกองทุนและการความสามารถในการระดมทุนอย่างต่อเนื่องและมีนัยสำคัญ อาจส่งผลให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BAY ได้รับการปรับเพิ่มอันดับ
การปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินอาจเกิดขึ้น หากเงินกองทุนหรือคุณภาพสินทรัพย์อ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือการปรับตัวอ่อนแอลงในด้านการระดมทุนและสภาพคล่องโดยรวม
BAY เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ในประเทศไทย บริษัทแม่ของกลุ่มคือ Mitsubishi UFJ Financial Group (ซึ่งเป็นบริษัทแม่รายเดียวของ BTMU) เป็นกลุ่มบริษัททางการเงินที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น และมีเครือข่ายในต่างประเทศที่มากที่สุด