ทั้งนี้ ดีแทค ไตรเน็ต มีแผนจะเปลี่ยนโครงข่ายทุกสถานีให้รองรับ 3G บนคลื่น 2100 MHz ทุกสถานีทั่วประเทศเสร็จสิ้นภายใน มิ.ย. นี้ เพื่อช่วยในการเข้าถึง 3G มากขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล และยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพความเร็วในการใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านมือถือ ขณะนี้โครงข่าย 2G บนคลื่น 850 MHz มีอยู่ 5,200 สถานีฐาน และโครงข่าย 2G บนคลื่น 1800 MHz จำนวน 1.1 หมื่นสถานีฐาน
"เราจะ upgrade 3G Trinet ให้เสร็จภายในเดือน มิ.ย.นี้ ก็จะทำให้การใช้งานครอบคลุม 80% ของประชากร" นายจอน กล่าว
อนึ่ง บริษัทมีแผนลงทุน จำนวน 3.4 หมื่นล้านบาทในช่วง 3 ปี (ปี 56-58) โดยปี 56 ใช้ไปแล้ว 1.44 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DTAC คาดว่าปีนี้ลูกค้า 3G บนคลื่น 2100 MHz จะเพิ่มมาเป็น 9.1 ล้านรายและอาจไปถึง 10 ล้านราย จากสิ้นปี 56 มียอดลูกค้า 3G บนคลื่น 2100 MHz จำนวน 5.1 ล้านราย โดยบริษัทตั้งเป้าหมายปีนี้โอนย้ายลูกค้าระบบ 2G มาใช้งานดีแทค ไตรเน็ตทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันยอดผู้ใช้งานดีแทค ไตรเน็ตมีมากกว่า 14 ล้านราย(ข้อมูล ณ 9 ก.พ. 57)จากลูกค้าทั้งหมด ณ สิ้นปี 56 อยู่ที่ 27.9 ล้านราย ในจำนวนนี้มีลูกค้าโพสต์เพด 3.5 ล้านราย ทำให้ DTAC มีส่วนแบ่งการตลาด 32%
ขณะเดียวกันบริษัทลงทุนโครงข่าย 4G LTE จำนวน 300 ล้านบาทขยาย 300 สถานีฐานใจกลางกรุงเทพในปีนี้ ได้แก่ สีลม สาทร ปทุมวัน บางรัก พญาไท ราชเทวี คลองเตย ดินแดง และคาดว่าจะเริ่มให้บริการ 4G LTE ไม่เกินไตรมาส 2/57 ซึ่งจะช่วยทำให้ยอดการใช้ Data เพิ่มขึ้น
บริษัทยังตั้งเป้ายอดจำหน่ายเครื่องสมาร์ทโฟนแบรนด์ดีแทคในปีนี้ จำนวน 5 แสนเครื่อง จากปีก่อนมียอดขาย 3 แสนเครื่องทำให้ลูกค้าใหม่และลูกค้าเดิมเข้าถึงการใช้ 3G ได้ง่ายขึ้น
ดังนั้น จึงคาดว่ารายได้ปีนี้มีแนวโน้มทะลุเกิน 1 แสนล้านบาท จากปี 56 มีรายได้ 9.46 หมื่นล้านบาท หรือคาดว่าเติบโต 4-5% จากปี 56 รายได้เติบโต 5.7%
นายจอน กล่าวว่า บริษัทสนใจศึกษาในการเช่าโครงข่ายโทรคมนาคมของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ทรูโกรท (TRUEIF) ขณะเดียวกันได้หารือในกลุ่มผู้ประกอบการ รวมทั้ง บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) มากว่า 1 ปีแล้ว เกี่ยวกับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เพื่อช่วยประหยัดงบประมาณ แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป
นอกจากนี้ DTAC ยังต้องการที่จะคืนคลื่นความถี่ 1800 MHz ให้กับบมจ.การสื่อสารโทรคมนาคม เพื่อให้นำไปประมูลและจัดสรรใช้ในระบบ 4G