ธนาคารจะยังคงรักษาระดับ NPL ไว้ให้ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 2.4-2.5% ขณะที่ก็ได้มีการคาดการณ์กันว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะยังคงยืดเยื้อหรือไม่ดีขึ้นมากนัก มองว่า NPL น่าจะปรับตัวสูงขึ้นทั้งระบบได้
นายสุภัค กล่าวว่า สำหรับปีนี้ธนาคารจะเน้นการเพิ่มรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม โดยอาศัยจุดแข็งพัฒนาการให้บริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประกอบกับเน้นด้าน Cross-sell เพิ่มขึ้นในสายงานบรรษัท สายพาณิชย์ สายรายย่อย คาดว่าปีนี้รายได้ค่าทำเนียมจะเติบโตได้ 40-50%
"แผนการดำเนินงานปีนี้เรามองเรื่องของการปรับปรุงในรูปแบบสาขา และลงทุนพัฒนาพนักงงานของเราที่ให้บริการมากยิ่งขึ้น ส่วน NPL ที่มองว่าจะสูงขึ้น มาจากในช่วง 3-4 เดือนก่อนเศรษฐกิจมีการชะลอตัวลง ทำให้ธนาคารทุกที่มองเห็นสัญญาณที่ไม่ดีของสินเชื่อรายย่อย จากการก่อหนี้เพิ่ม สินเชื่อ SME ที่ได้รับผลกระทบจากการเมือง และ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มโรงแรมเริ่มเห็นการชะลอตัว"นายสุภัค กล่าว
ทั้งนี้จากสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ส่งผลให้ในบางธุรกิจเช่น ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจค้าขาย ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม มีขีดความสามารถในการชำระหนี้ลดลง โดยเฉพาะ 2 ปีที่ผ่านมามีหลายกลุ่มธุรกิจได้ก่อหนี้เพิ่มในการซื้อรถ หรือลงทุนเพิ่ม เห็นได้จากระบบธนาคาร ตัวเลขเครดิตบูโร ในส่วนของ Index มีการปรับขึ้น 0.1-0.2% ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา โดยแต่ละธนาคารรวมถึงซีไอเอ็มบีไทย ก็ได้มีการช่วยเหลือลูกค้าในด้านของการผ่อนผันชำระหนี้ตามความเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้มีการเตรียมเงินทุนสำรองหนี้ NPL เพื่อรองรับสถานการณ์ทางการเมืองที่อาจจะเริ่มรุนแรงมากขึ้น ไว้ค่อนข้างมากพอสมควร โดย ณ ปัจจุบันมีทุนสำรอง 2,700 ล้านบาท
พร้อมกันนี้ธนาคารยังเป็นห่วงกลุ่มลูกค้ารายย่อย ขณะที่ลูกค้าที่เป็นบริษัทใหญ่ที่ทำธุรกิจมานาน มองว่าหลายบริษัทมีการฝ่าวิกฤตมากันมาก อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน หรือ D/E ratio รวมถึงสภาพคล่องโดยรวมบริษัทเหล่านี้ค่อนข้างมีความแข็งแกร่ง โดยส่วนของธนาคารยังไม่เห็นสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้ของลูกค้า
นอกจากนี้ทางธนาคารยังเป็นห่วงในเรื่องของการบริโภคที่ชะลอตัว การส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัวได้ดี ซึ่งตัวแปรหลักที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอ จะมาจากกลไกของรัฐ หากสถานการณ์การเมืองยังคงยืดเยื้อ มองว่ารัฐบาลก็จะไม่สามารถอนุมัติงบประมาณเพื่อมากระตุ้นโครงการสาธารณูปโภคต่างๆให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างเต็มที่
สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งต่อไป นายสุภัค ประเมินว่า กนง.น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ที่เป็นผลจากการเมือง ส่งผลต่อความมั่นใจของนักลงทุนพอสมควร การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจึงไม่น่าจะส่งผลให้ความมั่นใจของนักลงทุนกลับมาได้ รวมถึงในตลาดต่างประเทศได้ประสบปัญหาเงินทุนเคลื่อนย้ายไปยังประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยประเทศที่กำลังพัฒนาน่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าปรับลดลง เพื่อรักษาเสถียรภาพไว้
"ความเห็นส่วนตัวมองว่ากนง.คงไม่ลด จาก 2 ประเด็น คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจ ตัวแปรไม่ได้อยู่ที่อัตราดอกเบี้ย อยู่ที่เรื่องของการเมือง ซึ่งหากจะลดอัตราดอกเบี้ยลงหรือไม่นั้น ความมั่นใจของนักลงทุนยังขาดอยู่ และเมื่อมองตลาดต่างประเทศขณะนี้เงินเริ่มไหลออกไปสู่ประเทศเศรษฐกิจหลัก อย่างสหรัฐฯ เราจะเห็นว่าหลายประเทศที่กำลังพัฒนาล้วนแต่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อรักษาเสถียรภาพไว้ จึงมองโอกาสนี้ค่อนข้างต่ำ"นายสุภัค กล่าว