ทั้งนี้ จากทิศทางผลตอบแทนในตลาดหุ้นไทยค่อนข้างจำกัด ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น และการลดอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ จึงคาดว่าทำให้ทิศทางเงินทุนต่างชาติไหลกลับไปประเทศที่พัฒนาแล้วส่งผลให้ดอลล่าร์สหรัฐฯมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จึงแนะนำนักลงทุนน่าจะมีการลงทุนกระจายไปตราสารทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ยุโรป สหรัฐฯ และ ญี่ปุ่น หรือตราสารทุนหรือตราสารหนี้ในประเทศ ที่ไม่ถูกกระทบจากเงินไหลออกและอาจกระจายไปยังกองทุนทางเลือก เช่น กองทุนอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ และต่างประเทศซึ่งสามารถให้ผลตอบแทนที่สูง
ปัจจุบัน บริษัทฯ มีกองทุนที่ตอบโจทย์ทิศทางการลงทุนในปี 57 ได้แก่ กองทุนรวมต่างประเทศที่มีนโยบายลงทุนเชิงรับที่ลงทุนในตราสารทุนสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ เอสแอนด์พี 500 (SCBS&P500) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์นิคเคอิ 225 (SCBNKY225) และกองทุนรวมต่างประเทศที่มีนโยบายลงทุนเชิงรุกในตราสารทุนประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ แพลทตินัม โกลบอล ฟันด์ (SCBPGF) ที่ลงทุนในกองทุนหลักที่มีนโยบายลงทุนในตราสารทุนในที่กระจายใน 3 ทั้งยุโรป สหรัฐและญี่ปุ่น และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์โกลบอล อิควิตี้ (SCBGEQ) ที่ลงทุนในกองทุนหลักที่มี นโยบายเน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก
ล่าสุด บริษัทฯในวันที่ 17-24 ก.พ. นี้ ยังได้เตรียมออกกองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยุโรป (SCBEUEQ) ที่มีนโยบายลงทุนเชิงรับลงใน กองทุนประเภท ETF ที่อ้างอิงผลตอบแทนของดัชนี STOXX Europe 600
นางโชติกา กล่าวถึงแนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 1,400 จุด และมองว่าผลตอบแทนของบริษัทจดทะเบียนจะอยู่ที่ 10 % โดยมองบนพื้นฐานที่ว่าการเมืองจะจบลงภายในครึ่งปีแรก อย่างไรก็ตามหากการเมืองไม่สามารถจบลงได้ภายในครึ่งปีแรก ทางบริษัทฯก็จะมีการพิจารณาปรับลดคาดการดัชนีตลาดหุ้นไทยและ ผลตอบแทนของบริษัทจดทะเบียน
“ในช่วงครึ่งแรกของปีคาดว่าตลาดหุ้นไทยจะมีความผันผวนสูงจากกระแสเงินทุนไหลออกจากกลุ่มประเทศเกิดใหม่ไปสู่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วตามการลดวงเงินอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางสหรัฐ ประกอบกับ ความไม่สงบทางการเมืองยังคงยืดเยื้อทำให้ตลาดหุ้นไทยขาดปัจจัยสนับสนุน อย่างไรก็ตามจากมุมมองพื้นฐานตลาดหุ้นยังคงมีความน่าสนใจ และคาดว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะได้รับแรงหนุนจากภาคการค้าและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศตลาดหุ้นน่าจะปรับตัวดีขึ้นได้" นางโชติกากล่าว
จากปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว บริษัทฯ จึงแนะนำให้ลงทุนในกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นที่มีการจ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอและค่อนข้างสูง เช่น กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นทุนปันผล (SCBDV) และกองทุนที่ลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ เช่น กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาว พลัส (SCBLT2) และกองทุนที่มีการปรับสัดส่วนการลงทุน (Flexible Fund)เช่น กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาวปันผล 70/30(SCBLT1)
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงออกกองทุนเปิดตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นที่ลงทุนในต่างประเทศและในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงกว่าแต่ให้ผลตอบแทนที่สูง เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงและต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้น
นางโชติกา กล่าวต่อว่า ในปีนี้บริษัทฯจะเน้นการลงทุนไปยังหลักทรัพย์ในต่างประเทศมากขึ้นเนื่องจากมองว่าประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ และยุโรป ที่เริ่มมีการกลับมาฟื้นตัวได้ค่อนข้างดี นอกจากนี้ยังมีประเทศญี่ปุ่น ที่กลับมาฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง จากการทำนโยบายทางการเงินที่ได้ทำการอัดฉีดสภาพคล่องเข้ามาจะส่งผลดีต่อการเติบโตของประเทศให้มีการเติบโตที่จะเห็นภาพชัดเจนขึ้น
สำหรับแผนการออกกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ในสถานการณ์ที่ทั้งในและต่างประเทศมีความผันผวนสูงทำให้การออกกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆมีความเสี่ยงสูงขึ้น ในขณะที่นักลงทุนต้องการผลตอบแทนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการออกกองทุนอสังหาริมทรัพย์ยังต้องรอจังหวะที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามเนื่องจากปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่จะสามารถทำการเสนอขายกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และยังมีกองทุนอสังหาริมทรัพย์จำนวนมากที่รอการเสนอขาย หากบรรยากาศในการลงทุนดีขึ้นก็จะเห็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์รวมไปถึงกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) บางรายที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานกลต.แล้วออกมาในระยะใกล้กัน ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้นักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น
“ปี 56 นับว่าเป็นปีที่ประสบความสำเร็จมากของบลจ. ไทยพาณิชย์ ในการออกกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ERWPF CRYSTAL SPWPF TGROWTH และ TRUEGIF ซึ่งมีมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การบริหารจัดการ ณ สิ้นปี 56 มูลค่าทางตลาด (market capitalization)ของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานอยู่ที่ประมาณ 1.4 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 55 ประมาณ 4.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตถึง 153 % ซึ่งเป็นผลจากการออกกองทุนใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องทั้งปี จึงทำให้ถือครองสัดส่วนเป็นอันดับ 1 ในอุตสาหกรรม" นางโชติกากล่าว
ธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยความสำเร็จของบลจ.ไทยพาณิชย์ ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าบุคคลและสถาบันอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมากองทุนส่วนบุคคลมีอัตราเติบโตประมาณ 111% สามารถขยับเป็นอันดับ 2 ของอุตสาหกรรมด้วยมูลค่าสินทรัพย์ ณ สิ้นปี 56 อยู่ที่ 8.15 หมื่นล้านบาทจาก 3.86 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 55 โดยมีส่วนแบ่งตลาด 19%
ในขณะที่ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปี 56 เติบโตมากกว่า 30% เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมที่โตเพียง 7% โดยสิ้นเดือนมกราคม 57 มีขนาดมูลค่าสินทรัพย์อยู่ที่ 97,500 ล้านบาท เป็นอันดับ 3 ของอุตสาหกรรม โดยในปี้นี้บริษัทฯยังมีเป้าหมายสร้างการการเติบโตของลูกค้าภาคธุรกิจ อาทิ การส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อเป็นสวัสดิการยามเกษียณให้กับพนักงาน การให้ความรู้ด้านการจัดสรรสัดส่วนการลงทุน เพื่อให้สมาชิกเกษียนสุขมีเงินเพียงพอยามเกษียณ การเน้นการให้บริการความสะดวกสบาย การเข้าถึงข้อมูลของสมาชิก การทำงานร่วมกับกลุ่มไทยพาณิชย์ (SCB Group) ในการผนึกผลิตภัณฑ์ที่จัดสรรเป็นพิเศษสำหรับลูกค้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ