ทั้งนี้ กำไรสุทธิของ TTA เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 311% มาอยู่ที่ 250 ล้านบาท รายได้รวมเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 26% มาอยู่ที่ 5,297 ล้านบาท และกำไรสุทธิก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ TTA ซึ่งเป็นการวัดกำไรเงินสดเพิ่มขึ้น 138% มาอยู่ที่ 1,093 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากการปรับตัวดีขึ้นของอัตราผลกำไรในธุรกิจหลักต่างๆ และการเพิ่มขึ้นของส่วนแบ่งผลกำไรอย่างมีสาระสำคัญจากผลการดำเนินงานของบริษัท เอเชีย ออฟชอร์ ดริลลิ่งค์ จำกัด (AOD)
เมอร์เมด มาริไทม์ มีผลประกอบการในไตรมาส 1/57 ถือเป็นผลประกอบการไตรมาสหนึ่งที่ดีที่สุดในรอบ 5 ปีสำหรับเมอร์เมด โดยพลิกจากผลขาดทุนสุทธิ 2 ล้านบาทในปีที่แล้วมาเป็นกำไรสุทธิที่ 238 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการทำผลงานที่ดีขึ้นในธุรกิจวิศวกรรมใต้ทะเลและธุรกิจเรือขุดเจาะ
ธุรกิจวิศวกรรมใต้ทะเลของเมอร์เมดมีผลงานที่ดีขึ้น โดยรายได้เติบโตขึ้นจากปีก่อน 71% เนื่องจากมีสัญญาจ้างงานที่มีผลตอบแทนสูงจำนวนมากขึ้น ซึ่งส่งให้กองเรือของเมอร์เมดได้รับอัตราค่าจ้างรายวันที่เพิ่มสูงขึ้น และอัตราการใช้ประโยชน์เพิ่มจากปีก่อนที่ 51% มาเป็น 74% ในไตรมาสนี้
สำหรับธุรกิจเรือขุดเจาะมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นจากส่วนแบ่งผลกำไรที่สูงขึ้น โดยพลิกจากผลขาดทุนที่ 11 ล้านบาทมาเป็นกำไร 234 ล้านบาท ซึ่งเป็นเพราะเรือขุดเจาะสามขาทั้งสามลำของ AOD ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่เมอร์เมดมีหุ้น 33.8% ได้เริ่มให้บริการตามสัญญาว่าจ้างงานระยะเวลา 3 ปีที่ทำไว้กับบริษัทน้ำมันแห่งชาติซาอุดิอาระเบีย
ขณะที่ กำไรสุทธิของโทรีเซน ชิปปิ้งโต 490% มาอยู่ที่ 117 ล้านบาท นับเป็นกำไรสุทธิของไตรมาสแรกที่สูงสุดในรอบ 3 ปี โดยเป็นผลมาจากอัตราค่าจ้างรายวันที่สูงขึ้น โครงสร้างต้นทุนค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ รายได้จากค่าระวางเรือที่โทรีเซนชิปปิ้งได้รับเพิ่มขึ้นจาก 7,542 เหรียญสหรัฐต่อวันมาเป็น 10,466 เหรียญสหรัฐต่อวันในไตรมาสนี้ เนื่องจากอุตสาหกรรมเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองเริ่มที่จะฟื้นตัวจากการตกต่ำมาเป็นระยะเวลานาน ส่วนค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าของเรือลดลงมาอยู่ที่ 4,057 เหรียญสหรัฐต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยทั่วไปของตลาดที่ 5,121 เหรียญสหรัฐต่อวัน ในขณะที่ต้นทุนโดยรวมลดลงจากปีก่อนที่ 9,822 เหรียญสหรัฐมาอยู่ที่ 7,806 เหรียญสหรัฐในไตรมาสนี้
โดยสรุป โทรีเซนชิปปิ้งมีกำไรสุทธิก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) สูงขึ้นถึง 237% จาก 86 ล้านบาทในปีก่อนมาเป็น 289 ล้านบาทในไตรมาสนี้
ส่วน UMS ในช่วงเริ่มไตรมาสแรกของปี 57 UMS พยายามที่จะปรับโครงสร้างเงินทุนให้เกิดความสมดุล และเพิ่มความแข็งแรงให้กับสถานภาพทางการเงิน จึงหันกลับมาเร่งระบายถ่านหินขนาด 0-5 มม. อีกครั้ง ทำให้สัดส่วนในการขายถ่านหินขนาด 0-5 มม. ซึ่งเป็นถ่านหินที่มีกำไรน้อยเพิ่มขึ้นจาก 22% ในปีก่อนมาเป็น 56% ในไตรมาส 1/2557 อย่างไรก็ดี การกลับมาระบายถ่านหินขนาดเล็กประกอบกับกระบวนการด้านโลจิสติกส์ที่ยังไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ได้ส่งผลกดดันต่อผลกำไร ทำให้ UMS มีผลขาดทุนสุทธิที่ 35 ล้านบาทในไตรมาสนี้ ทั้งนี้ UMS ยังคงเดินหน้าเจรจากับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อหาหนทางในการทำให้บริษัทสามารถกลับมาขนส่งทางน้ำได้อีกครั้ง เพื่อให้กระบวนการด้านโลจิสติกส์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
สำหรับ บาคองโคยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยผลกำไรสุทธิในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 24% มาอยู่ที่ 88 ล้านบาท ธุรกิจปุ๋ยและคลังสินค้ามีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว โดยธุรกิจปุ๋ยสามารถสร้างอัตราผลกำไรที่สูงขึ้นจากการจัดหาวัตถุดิบด้วยราคาต้นทุนที่ต่ำลง และเพิ่มกิจกรรมด้านการตลาดในประเทศที่มากขึ้น ในขณะเดียวกัน ธุรกิจคลังสินค้าก็ทำผลงานได้ดีกว่าปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการเปิดตัวคลังสินค้าบาคองโคหมายเลข 5 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 56