(เพิ่มเติม1) RATCH ตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตเป็น 9,700MWในปี 66จากปัจจุบัน 6,543MW

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 18, 2014 14:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงษ์ดิษฐ พจนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ( RATCH) เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับแผนกลยุทธ์ธุรกิจ 10 ปี โดยตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตให้ถึง 9,700 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 3,157 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตติดตั้ง 6,543 เมกะวัตต์ เพื่อสร้างมูลค่ากิจการให้ถึง 2.8 แสนล้านบาทภายในปี 66 จากปัจุบันที่มีบริษัทมีมูลี่ากิจการประมาณ 1.2 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ แผนดังกล่าวจะเน้นลงทุนใน 4 กลุ่มธุรกิจคือกลุ่มโรงไฟฟ้า เชื้อเพลิงหลักในประเทศ โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน โรงไฟฟ้าในต่างประเทศ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยนอกจากตลาดในประเทศแล้วยังมุ่งเน้นในกลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศอื่นในเอเชียแปซิฟิก เช่น ออสเตรเลีย ซึ่งในปีนี้บริษัทตั้งงบลงทุนจำนวน 1 หมื่นล้านบาท

บริษัทกำหนดแผนลงทุน 10 ปี(ปี 57-66)จะใช้เงินเฉลี่ยปีละ 1 หมื่นล้านบาท รวมประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยเน้นลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ พม่า ลาว และ มาเลเซีย ทั้งในรูปแบบการพัฒนาโครงการใหม่และและการเข้าซื้อกิจการ

นายพงษ์ดิษฐ กล่าวว่า จากในปี 56 บริษัทมีมูลค่ากิจการ (ทรัพย์สินรวมหนี้สิน) จำนวน1.14 แสนล้านบาท มาจากกิจการในไทย 46% ในลาว 42% และในออสเตรเลีย 12% โดยในอีก 5 ปีข้างหน้าหรือภายในปี 61 คาดว่ามูลค่ากิจการของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.89 แสนล้านบาท โครงสร้างกิจการจะเปลี่ยนมาที่ลาวและพม่ารวมกัน 44% ในไทยเหลือ 16% ออสเตรเลีย 15% ประเทศกลุ่มอาเซียนนอกเหนือลาวและพม่า มี 15% และประเทศนอกกลุ่มอาเซียน 5%

จากนั้นในปี 66 คาดว่ามูลค่าจะปรับขึ้นเป็น 2.8 แสนล้านบาท จะมีสัดส่วนกิจการในลาวและพม่า 37% ในไทย 18% ออสเตรเลีย 10% ประเทศในกลุ่มอาเซียนยกเว้นลาวและพม่ามี 19% ประเทศนอกอาเซียน 6% ส่วนธุรกิจเกี่ยวเนื่องคือ ธุรกิจเชื้อเพลิงได้แก่เหมืองถ่านหินและแหล่งก๊าซธรรมชาติ 5% และธุรกิจจัดจำหน่ายไฟฟ้า 5%

"ตอนทำแผน 10 ปี ผมคาดหวังว่าอย่างแย่ที่สุดทำได้ 80%ของแผน โดยแผน 10 ปีก็จะมีการ Rolling ขึ้นกับปัญหาและโอกาส ไม่มีแผนไหน 100% ถ้าเราเชื่อโชคลางก็มีโอกาส 1-2ปีก็ทะลุได้เหมือนกัน"นายพงษ์ดิษฐ กล่าว

นายพงษ์ดิษฐ กล่าวว่า บริษัทได้ยื่นประมูลเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง ขนาดกำลังผลิต 300 เมกะวัตต์ใกล้เมืองเนปิดอว์ คาดใช้เงินลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาท โดยพม่าจะจัดหาเชื้อเพลิง อย่างไรก็ดี มีผู้ยื่นประมูลมากถึง 19 ราย ทำให้ต้องเลื่อนการประกาศผลประมูลออกไปจากเดิมคาดจะประกาศได้ในเดือน มี.ค.นี้

ขณะเดียวกันเมื่อวานนี้คณะกรรมการบริษัทอนุมัติลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 300 เมกะวัตต์ในเมืองเชียงตุงทางตอนเหนือของพม่า มูลค่าโครงการลงทุน 1.6 หมื่นล้านบาท เป็นการร่วมทุนกับพันธมิตรท้องถิ่นที่ได้ทำเอ็มโอยูกับกระทรวงพลังงานของเมียนมาร์ (MOEP) ระหว่างนี้อยู่ระหว่างการศึกษารายงานความเป็นไปได้ของโครงการและ และจะยื่นรายงานดังกล่าวให้ MOEP ในสิ้นเดือน มี.ค.นี้ จากนั้นคาดทางรัฐบาลพม่สใช้เวลาพิจารณา 4-5 เดือน หากสรุปได้ในปีนี้ก็จะสามารถเริ่มก่อสร้างในปีหน้าซึ่งต้องใช้เวลา 3 ปี ทั้งนี้ RATCH จะขอถือหุ้นใหญ่ อาจจะ 60% หรือ 70%

และ บริษัทมีโอกาสเข้าพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในมาเลเซีย โดยที่ผ่านมาได้มีพันธมิตรมาติดต่อมาร่วมทุนเข้าพัฒนาโครงการขนาดติดตั้งที่เหมาะสม 600 เมกะวัตต์ 2 โรง

พร้อมกันนั้น คณะกรรมการบริษัทเพิ่งอนุมัติการร่วมลงทุนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ 2 โครงการในญี่ปุ่น รวม 30 เมกะวัตต์ เป็นเงินลงทุนกว่า 600 กว่าล้านบาท โดยจะเป็นการลงทุนผ่านบริษัทร่วมทุนระหว่าง RATCH กับบมจ.เชาว์สตีล (CHOW) 2 โครงการ ใช้เงินลงทุนกว่า 4 พันล้านบาท คาดว่าจะสรุปสัญญาเงินกู้ 3 พันล้านบาทในกลางปีนี้ และจะสร้างแล้วเสร็จในปี 58

ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ได้แก่ โครงการพลังงานทดแทน 2 แห่งในออสเตรเลีย คือ โครงการ Conlinsville Solar PV กำลังผลิต 23 เมกะวัตต์ คาดแล้วเสร็จและเดินเครื่องในปี 58 และโครงการพลังงานลม Collector Farm กำลังการผลิตติดตั้ง 165 เมกะวัตต์ จะแล้วเสร็จและเดินเครื่องในปี 59

*ปีนี้กำไรใกล้เคียงปีก่อน

นายพงษ์ดิษฐ คาดว่า กำไรในปีนี้จะใกล้เคียงปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 6.18 พันล้านบาท เนื่องจากปีนี้มีกำลังการผลิตเข้ามาน้อย โดยโรงไฟฟ้าราชเวิลด์ ขนาด 120 เมกะวัตต์จะเริ่มผลิตได้ครึ่งหนึ่งในปลายปี 57 และจะเดินเครื่องเต็มที่ในปี 58 ส่วนโรงไฟฟ้าไตรเอ็นเนอร์จี้ (TEGO) กำลังการผลิต 350 เมกะวัตต์ ไม่ค่อยได้เดินเครื่องผลิต นอกจากนี้รายได้จากค่าไฟในปีนี้ ลดลงตามสัญญา

แต่ในปี 58 คาดรายได้กำไรจะดีกว่าปี 57 เพราะมีกำลังการผลิตเข้ามามากได้แก่ โรงไฟฟ้าหงสา กำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้านวนคร (SPP) ขนาด 120 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าราชเวิลด์เฟส 2 นอกจากนี้ได้ขอขยายเวลาสัญญาซื้อขายไฟสำหรับโรงไฟฟ้า TEGO อีก 5 ปีจากปัจจุบันมีระยะเวลา 20 ปี หรือหมดสัญญาสิ้นเดือน มิ.ย.63


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ