นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BANPU กล่าวว่า ในปี 56 อุตสาหกรรมถ่านหินทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสภาวะปริมาณถ่านหินที่มากเกินกว่าความต้องการ ส่งผลให้ราคาถ่านหินในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีราคาถ่านหิน NEX ได้ปรับลดลงมาสู่ระดับต่ำสุดที่ 77 เหรียญสหรัฐต่อตันในเดือน ก.ค.56 ซึ่งสภาวะราคาตลาดถ่านหินที่ไม่เอื้ออำนวยดังกล่าวส่งผลโดยตรงต่อรายได้จากธุรกิจถ่านหินของบริษัทฯ แม้ว่าในปีนี้ ปริมาณการขายถ่านหินรวมจะเพิ่มขึ้น 1.22 ล้านตัน เป็น 42.8 ล้านตันก็ตาม โดยเฉพาะแหล่งผลิตถ่านหินในอินโดนีเซียที่มีราคาขายถ่านหินลดลงร้อยละ 17 จากปี 55 ส่งผลให้ราคาขายถ่านหินเฉลี่ยโดยรวมของของบ้านปูฯ ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 15 มาอยู่ที่ 72.41 เหรียญสหรัฐต่อตัน
ในปี 56 รายได้จากการขายรวมจำนวน 3,351 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 102,944 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11 จากปีก่อนหน้า แบ่งเป็นรายได้จากการจำหน่ายถ่านหิน 3,128 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 93 ของรายได้จากการขายรวม และรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำจำนวน 192 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 6 ของรายได้
ธุรกิจไฟฟ้ามีรายได้ที่ดีและมีส่วนสำคัญต่อกำไรสุทธิรวมของบริษัทฯ โดยในปี 56 โรงไฟฟ้า BLCP (ซึ่งบ้านปูฯ ถือหุ้นร้อยละ 50) ดำเนินการผลิตและขายไฟฟ้าได้อย่างราบรื่นและบันทึกส่วนแบ่งกำไรจำนวน 82 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนธุรกิจไฟฟ้าในประเทศจีนมีกำไรสุทธิจำนวน 23.53 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้รับผลดีจากปริมาณการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นในฤดูหนาว และผลการเดินโรงไฟฟ้าที่ดี
ในปีที่ผ่านมา BANPU มีกำไรจากธุรกิจถ่านหินจำนวน 36.99 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 192.24 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 84 จากปีก่อนหน้า ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้ามีกำไรสุทธิจำนวน 65.67 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 55 จำนวน 23.22 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 55 ขณะที่การบันทึกกำไรจากอนุพันธ์ทางการเงินในปีนี้ลดลง 27 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 74.5 จาก 106 ล้านเหรียญสหรัฐในปีก่อนหน้า
“กำไรสุทธิที่ลดลงเป็นผลจากสภาวะราคาถ่านหินที่อ่อนตัวลง ขณะที่การบันทึกกำไรจากอนุพันธ์ทางการเงินที่ลดลงจำนวน 27 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลต่อกำไรสุทธิโดยรวมของบริษัทฯ ด้วยเช่นกัน อย่างไรตาม รายได้ที่แข็งแกร่งของธุรกิจไฟฟ้าซึ่งเป็นฐานกำไรที่สำคัญต่อผลประกอบการโดยรวม ช่วยลดผลกระทบจากภาวะราคาถ่านหินที่ไม่เอื้ออำนวยในปีที่ผ่านมา และทำให้อัตราส่วนการทำกำไรขั้นต้นต่อยอดขายรวม (Gross Profit Margin) ของบริษัทฯ อยู่ในระดับที่ดีในอัตราร้อยละ 32" นายชนินท์ กล่าว
นายชนินท์ กล่าวอีกว่า บริษัทได้ดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว โดยการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตพร้อมทั้งดำเนินโครงการลดต้นทุน ตลอดจนปรับแผนการทำเหมืองให้เหมาะสม การเพิ่มประสิทธิภาพการขนถ่ายถ่านหินและการบริหารท่าเรือเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิง การเพิ่มความต่อเนื่องในการขนถ่ายถ่านหินจากหน้าเหมืองไปยังท่าเรือ และการจัดตารางเรือให้ราบรื่นเพื่อลดค่าปรับ ในปี 56 ที่ผ่านมาบริษัทสามารถลดต้นทุนการขายรวมลง 56 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 2 จากปีก่อนหน้า
“จากการดำเนินมาตรการต่างๆ เหล่านี้ช่วยให้ปริมาณขายถ่านหินจากแหล่งผลิตในอินโดนีเซียเติบโตร้อยละ 7 เป็น 29.21 ล้านตัน ในขณะที่ต้นทุนขายลดลงร้อยละ 6 เป็น 48.17 เหรียญสหรัฐต่อตัน นอกจากนี้ การปรับแผนการทำเหมืองให้อยู่ในระดับที่ตื้นขึ้นส่งผลอย่างชัดเจนในการช่วยลดต้นทุนการผลิตโดยอัตราส่วนหน้าดินต่อถ่านหิน (Stripping Ratio) ได้ลดลงจาก 12.28 เท่าในปี 55 เป็น 11.06 เท่าในปี 56"นายชนินท์ กล่าว