ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าค่าระวางเรือเฉลี่ยทั้งปีนี้จะอยู่ที่ 1.2-1.3 หมื่นเหรียญสหรัฐ/วัน/ลำ ซึ่งตามอุตสาหกรรมที่คาดไว้ จากในไตรมาสแรก (ต.ค.-ธ.ค.56)มีรายได้เฉลี่ยที่ 1.05 หมื่นเหรียญ/วัน/ลำ เนื่องจากความต้องการเติบโตมาประมาณ 7.5% ขณะที่จำนวนเรือเพิ่มขึ้น 4.5%
ประกอบกับ ธุรกิจบริการเรือด้าน oil&gas ในกลุ่มเมอร์เมดฯ คาดว่าจะเติบโต 20% ส่วนธุรกิจสาธารณูปโภค คือธุรกิจจากบาคองโกและธุรกิจของ บมจ.ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส ( UMS) ซึ่งอยู่ในเครือ คาดว่ารายได้จะเติบโตราว 30% ในงวดปีนี้
อนึ่ง ธุรกิจบริการด้าน oil&gas มีสัดส่วนรายได้ราว 47% ของรายได้รวม ธุรกิจชิปปิ้งมีสัดส่วน 27-28% และธุรกิจสาธารณูปโภค มีสัดส่วน 20%
"รายได้เราทุกไตรมาสดีกว่าปีที่แล้วเมื่อเทียบกับไตรมาสปีที่แล้ว ถึงไตรมาส 2 เป็นโลว์ซีซั่น แต่ก็จะสูงกว่าไตรมาส 2 ปีที่แล้ว"นายไกรลักขณ์ กล่าว
นายไกรลักขณ์ กล่าวว่า ในปีนี้ต้นทุนและค่าใช้จ่ายคงที่ ขณะที่รายได้ขยายตัว ทำให้กำไรเติบโต อย่างไรก็ดี ในปีนี้ ธุรกิจ UMS ก็ยังฉุดลงบ้าง โดยคาดว่าปีนี้ยังไม่มีกำไร แต่ก็จะขาดทุนไม่มากแล้ว
อนึ่ง จากการที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติการเพิ่มทุน 4,200 ล้านบาท ทำให้บริษัทสามารถกู้เวินได้เพิ่มอีกเท่าตัว ทำให้บริษัทมีเงินทุนรวม 8,400 ล้านบาทสำหรับใช้ลงทุนธุรกิจในปีนี้ ทำให้ฐานะทางการเงิน ปัจจุบันมีอัตราหนี้สินต่อทุน(D/E)ที่ 0.5 เท่า ทั้งนี้ บริษัทมีแผนซื้อเรือมือสองในราคาลำละ 24-25 ล้านเหรียญ/ลำ ซึ่งเป็นเรือประเภทซุปปาร์แมกซ์เพื่อรองรับการขยายตัวตลาด และสามารถนำมาสร้างรายได้ทันที แต่ขึ้นอยู่กับโอกาสที่จะเข้าซื้อได้ที่ราคาใด นอกจากนี้ บริษัทก็จะนำเงินไปลงทุนธุรกิจอื่นด้วย
ส่วนการนำบมจ.พีเอ็ม โทรีเซน เอเซีย โฮลดิ้ง ซึ่ง TTA ถือหุ้น 100% เข้าตลาดหลักทรัพย์นั้น นายไกรลักขณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา คาดว่า ก.ล.ต.จะใช้เวลาพิจารณา 4-5 เดือน ทั้งนี้ พีเอ็มฯ จะเสนอขายหุ้น IPO สัดส่วน 35% ของทุนจดทะเบียนโดยเป็นหุ้นเดิมที่ TTA ถือ 27% ที่เหลือเป็นหุ้นเพิ่มทุน และจะให้สิทธิผู้ถือหุ้น TTA จองหุ้น IPO ก่อน หากหมดก็จะไม่เสนอขายให้กับนักลงทุนท้วไป