สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB196A (อายุ 5.3 ปี) LB176A (อายุ 3.3 ปี) และ LB155A (อายุ 1.2 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 30,952 ล้านบาท 26,372 ล้านบาท และ 11,011 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB14311A (อายุ 14 วัน) CB14522B (อายุ 91 วัน) และ CB14410A (อายุ 48 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 34,209 ล้านบาท 32,582 ล้านบาท และ 15,238 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รุ่น PTTC15NA (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 877 ล้านบาท หุ้นกู้ของธนาคาร เกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) รุ่น KK144A (A-) มูลค่าการซื้อขาย 705 ล้านบาท และหุ้นกู้ของธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) รุ่น BAY152B (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 565 ล้านบาท
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield) ปรับตัวลดลงตลอดทั้งเส้น ในช่วงประมาณ -1 ถึง -7 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) เนื่องจากนักลงทุนในตลาดคาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย (RP 1 Day) ลงในการประชุมที่จะมีขึ้นในวันพุธที่ 12 มี.ค. 57 นี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่องจากสิ้นปี 2556 ภายหลังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไตรมาส 4/56 ว่าขยายตัวเพียง 0.6% ขณะที่เศรษฐกิจตลอดทั้งปี 56 ขยายตัวเท่ากับ 2.9% ซึ่งต่ำกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ พร้อมกันนี้ สศช. ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 57 เหลือเพียง 3 – 4% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 4 – 5% เนื่องจากความล่าช้าของการดำเนินการตามแผนการลงทุนของภาครัฐ และการบริโภคภายในประเทศที่ยังคงชะลอตัว นอกจากนี้แล้วการประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลไทย โดย Moody’s ที่ระดับ Baa1 พร้อมให้แนวโน้มมีเสถียรภาพ เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนต่างชาติมากขึ้น ส่งผลให้มีเม็ดเงินต่างชาติไหลกลับเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้อีกครั้งโดยเฉพาะในตราสารหนี้ระยะยาว และมีส่วนทำให้อัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลง
อย่างไรก็ตาม จากรายงานผลการประชุม FOMC ครั้งล่าสุดที่ส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับลดขนาดของมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในช่วงถัดไป อาจกดดันให้กระแสเงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดเกิดใหม่รวมถึงประเทศไทยได้อีก ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติมียอด ซื้อสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกัน 886 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 2,491 ล้านบาท และ ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี) 1,605 ล้านบาท ทางด้านนักลงทุนรายย่อยมียอดขายสุทธิ 238 ล้านบาท