ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระคืนหนี้และเป็นเงินทุนในการขยายกิจการ อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แบรนด์ที่แข็งแกร่ง ตลอดจนผลการดำเนินงานที่ผ่านการพิสูจน์ในช่วงที่ผ่านมา การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความยืดหยุ่นทางการเงินจากเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่สามารถสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอและหลักทรัพย์สภาพคล่องสูง อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นวงจรขึ้นลง ตลอดจนแรงกดดันจากต้นทุนค่าก่อสร้างและการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งภาระหนี้ในระดับปานกลางของบริษัท
ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถรักษาความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งในตลาดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไว้ได้ด้วยผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ในระดับที่สูงเกินกว่า 50% หรืออัตราส่วนภาระหนี้ต่อทุนเกินกว่า 1 เท่าเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน
บริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เป็นหนึ่งในผู้นำในกลุ่มผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยของไทย บริษัทมีสินทรัพย์รวม ณ เดือนกันยายน 2556 อยู่ที่ 7.29 หมื่นล้านบาท ซึ่งใหญ่ที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมีรายได้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 เป็นอันดับที่ 3 อยู่ที่ 1.87 หมื่นล้านบาท
บริษัทก่อตั้งในปี 2526 โดยตระกูลอัศวโภคิน ณ เดือนกรกฎาคม 2556 ตระกูลอัศวโภคินมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท 31% รองลงมาคือ Government of Singapore Investment Corporation (GIC) ในสัดส่วน 16% สินค้าหลักของบริษัทคือ บ้านเดี่ยวซึ่งสร้างรายได้ในสัดส่วนประมาณ 60%-75% ของยอดขายรวมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่บ้านเดี่ยวราคา 3-7 ล้านบาทต่อหลังคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40%-50% ของยอดขายรวม
บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งมากซึ่งสะท้อนถึงคุณภาพสินค้าและบริการหลังการขาย บริษัทประสบความสำเร็จในการขายบ้านเดี่ยวภายใต้แบรนด์และราคาที่หลากหลาย และเสนอสินค้าที่เหมาะสมกับกำลังซื้อและความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละทำเล ความแข็งแกร่งทางการตลาดของบริษัทสะท้อนจากยอดขายที่อยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยในปี 2556 บริษัทสามารถสร้างยอดขายได้ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เติบโต 17% จากปี 2555
ณ สิ้นปี 2556 บริษัทมียอดขายโครงการคอนโดมิเนียมที่ยังไม่ได้ส่งมอบ (Backlog) มูลค่า 12.5 พันล้านบาท โดยที่บริษัทจะรับรู้ยอดขายดังกล่าวเป็นรายได้ 2.4 พันล้านบาทในปี 2557 และจะรับรู้เป็นรายได้ 5.9 พันล้านบาทในปี 2558 ส่วนที่เหลืออีก 4.2 พันล้านบาทจะถูกรับรู้เป็นรายได้ในปี 2559
ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้ง คาดว่าในช่วง 3 ปีข้างหน้าบริษัทจะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 2.4-2.7 หมื่นล้านบาทต่อปี บริษัทมีอัตราส่วนกำไร (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย/รายได้) อยู่ที่ 24.7% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 และ 21.9% ในปี 2555 ทั้งนี้
ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรของบริษัทน่าจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 18%-19% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยได้พิจารณารวมถึงแรงกดดันจากต้นทุนค่าก่อสร้างและการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการขยายธุรกิจ
บริษัทมีภาระหนี้ในระดับปานกลาง ทว่าความเสี่ยงดังกล่าวถูกลดทอนลงจากการที่บริษัทมีเงินลงทุนในสินทรัพย์คุณภาพดีซึ่งสามารถสร้างรายได้ และการถือเงินลงทุนขนาดใหญ่ในหลักทรัพย์สภาพคล่องสูง อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 อยู่ที่ระดับ 50.6% ทั้งนี้ บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินรวม (หักด้วยภาระหนี้ที่ไม่มีดอกเบี้ย) ต่อทุนให้ต่ำกว่า 1.5 เท่าตามข้อกำหนดสิทธิหุ้นกู้ โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 1.03 เท่า
ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะยังคงอยู่ในช่วงระหว่าง 45%-50% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าเนื่องจากแผนการขยายโครงการแนวสูงที่จะมีอย่างต่อเนื่องและนโยบายการจ่ายเงินปันผลในระดับสูง ความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทได้รับแรงสนับสนุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีมูลค่ายุติธรรมอยู่ที่ 4.41 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 สภาพคล่องของบริษัทอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ภาระหนี้ระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 3 ปีข้างหน้าอยู่ในช่วง 5 พันล้านบาทถึง 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมให้อยู่ในระดับที่สูงกว่า 10% ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายจะอยู่ในระดับที่สูงกว่า 5 เท่า อันดับเครดิตของบริษัทยังไม่ได้สะท้อนถึงปัจจัยบวกที่อาจเกิดขึ้นจากการที่บริษัทอาจขายสินทรัพย์บางส่วนในอนาคตเนื่องจากความไม่แน่นอนในเรื่องของระยะเวลาและมูลค่าของรายการ นอกจากนี้ ปัจจัยบวกจากโครงสร้างทางการเงินที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นอาจถูกลดทอนลงหากบริษัทมีแผนการขยายธุรกิจที่คาดว่าจะทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนปรับกลับขึ้นไปอยู่ในช่วง 40%-50%