ในปี 57 บริษัทฯ มีแผนงานหลัก ได้แก่ แผนการพัฒนาด้านช่องทางการจัดจำหน่ายให้ครอบคลุมครบทุกช่องทางที่หลากหลาย (Multi Channels) ส่วนช่องทางธุรกิจตัวแทนนั้น บริษัทจะขยายจำนวนตัวแทนรายใหม่ทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถดูแลลูกค้าได้ทั่วถึง นอกจากนี้ช่องทางหลักอีกช่องทางของบริษัทฯ ที่มีอัตราการขยายตัวค่อนข้างสูงคือ ช่องทาง Bancassurance เนื่องจากพันธมิตรหลักของบริษัทฯ คือ ธนาคารกสิกรไทย ที่มีการขยายจำนวนสาขาเพิ่มขึ้นทั่วประเทศซึ่งขยายการให้บริการไปยังภูมิภาค ทำให้เป้าหมายของช่องทางนี้มีความเติบโตสูง
และบริษัทฯ ยังคงพัฒนาช่องทางการจำหน่ายใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความสะดวกให้แก่ลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อประกัน On-Line ผ่านทาง Website ท่านสามารถซื้อประกันภัยรถยนต์ทั้ง พ.ร.บ. และประกัน package ต่างๆ อีกทั้งประกันการเดินทางต่างประเทศเพื่อขอวีซ่าประเทศต่างๆ และการประกันอุบัติเหตุอย่างง่ายไว้ให้ท่านเลือกคลิกได้เองทุกที่ทุกเวลา
แผนการพัฒนาการให้บริการ เนื่องจากอัตราการขยายตัวรถยนต์ของบริษัทฯ ในปีนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากช่องทางต่างๆ บริษัทฯ มีโครงการพัฒนากระบวนการทำงานระบบเทคโนโลยีและเจ้าหน้าที่ เพื่อให้มีความพร้อมในการให้บริการสินไหมประกันภัยรถยนต์ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นลูกค้าเป็นสำคัญ โดยมีเป้าหมายขยายจำนวนอู่และศูนย์ซ่อมแซมให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยปัจจุบันมีจำนวนอู่คู่สัญญาทั้งหมด 622 แห่ง และศูนย์บริการรับงานจำนวน 480 แห่ง และสำนักงานตัวแทนจำนวน 222 แห่ง รวมถึงศูนย์บริการลูกค้าจำนวน 21 แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อให้มีคุณภาพด้านบริการที่สะดวกรวดเร็วมากขึ้น
บริษัทมีแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เหมาะกับ Lifestyle อย่างน้อย 4 ผลิตภัณฑ์ โดยเน้นการออกผลิตภัณฑ์โดยเน้นการแบ่งกลุ่มทางการตลาด (Segmentation) ที่ชัดเจน เริ่มจากประกันสุขภาพHi-end หรือ Healthcare High Sum เป็นผลิตภัณฑ์ที่เน้นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อ และมีความต้องการในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลชั้นนำ โดยให้ความคุ้มครองสูงสุดถึง 40 ล้านบาท และสามารถให้ความคุ้มครองทั่วโลก, ผลิตภัณฑ์ที่สองคือ ประกันฟัน เป็นการเสริมความคุ้มครองเพิ่มเติมจากประกันภัยอุบัติเหตุหรือประกันภัยสุขภาพ, ผลิตภัณฑ์ที่สามคือ เมืองไทย Cats & Dogs เป็นผลิตภัณฑ์ที่คุ้มครองสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์ที่สี่คือ P.A.Senior ในอนาคตอันใกล้สังคมไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ
นอกจากนี้ บริษัทยังขยายตลาดประกันภัยรถยนต์ในอีก Segment ได้แก่ การประกันภัยรถบรรทุก ซึ่งเป็นอีกกลุ่มเป้าหมายที่สอดรับการการขยายตัวของธุรกิจ Logistics ที่มีแนวโน้มการข้ามชายแดนระหว่างประเทศมากขึ้น โดยมีการกำหนดแนวทางการรับประกันภัยที่ชัดเจน ในตลาดนี้ มีผู้รับประกันภัยจำนวนน้อยราย และแนวโน้มการขยายตัวสูง ทำให้หากมีการรับในปริมาณรถที่มากพอ มีโอกาสที่จะทำให้มีกำไรได้เช่นกัน
นางนวลพรรณ กล่าวต่อว่า ผลการดำเนินงานประจำปี 56 บริษัทมีกำไรสุทธิ 772.4 ล้านบาท ซึ่งเป็นปีที่มีกำไรสูงสุดนับแต่มีการควบรวมกิจการ ส่วนในปี 55 บริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิที่ 862.5 ล้านบาท เนื่องจากการบันทึกสินไหมกรณีเหตุการณ์อุทกภัยจำนวน 1,534.4 ล้านบาท (โดยมีผลกระทบขาดทุนสุทธิหลังภาษีประมาณ 1,228 ล้านบาท) ในปีนี้สินไหมดังกล่าวได้จ่ายชำระให้ผู้เอาประกันภัยไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ ทำให้สามารถปรับลดค่าใช้จ่ายสินไหมลงเป็นจำนวน 260.1 ล้านบาท
อีกทั้งบริษัทสามารถจัดโครงสร้างการประกันภัยต่อได้ดียิ่งขึ้นกว่าที่ผ่านมา เป็นผลให้ต้นทุนเกี่ยวกับการประกันภัยต่อลดลงตามลำดับภายหลังเหตุการณ์ต่างๆ เข้าสู่ภาวะปกติ โดยบริษัทมีเบี้ยประกันภัยรับรวม 8,891.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,388.9 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 18.5 จากปีก่อน อันเป็นผลมาจากการมีช่องทางขายที่หลากหลาย เน้นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้หลายระดับ ทั้งด้านประกันภัยรถยนต์และประกันภัยทั่วไป
นอกจากนี้ บริษัท มีรายได้และผลกำไรจากการลงทุนในหลักทรัพย์รวม 362.5 ล้านบาท ด้านค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัยทั้งหมดอยู่ที่ 4,026.9 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 1,488.0 ล้านบาท และกำไรจากการรับประกันภัย 709.9 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทฯ มีกำไรก่อนหักภาษีเงินได้ 1,024.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 55 ที่มีผลขาดทุน 1,052.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 197.3 และกำไรสุทธิ 772.4 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วคิดเป็นร้อยละ 189.6