ทั้งนี้ ในงวด 9 เดือนที่ผ่านมา(เม.ย.-ธ.ค.56) มียอดขายแล้ว 9.58 หมื่นตัน สูงกว่างวดเดียวกันของปีก่อนที่มียอดขาย 8.63 แสนตัน ดังนั้นในไตรมาส 4/57 (ม.ค.-มี.ค.)คาดจะมียอดขายมากกว่า 3 แสนตัน ส่วนกำไรสุทธิในงวด 9 เดือนที่ผ่านมามี 4 ล้านบาทจากปีก่อนขาดทุน 991 ล้านบาท
"เราพยายามอย่างยิ่งจะทำกำไร แต่จะทำได้มากน้อยแค่ไหนก็เห็นว่าเป็นเรื่องท้าทายมาก"นายมังกัล กล่าว พร้อมยอมรับว่าสถานการณ์การเมืองที่วุ่นวายเช่นปัจจุบันส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ และการชะลอการลงทุโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ 2 ล้านล้านบาท ทำให้ความต้องการตลาดชะลอไป รวมทั้งอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศก็ไม่ดีนัก"นายราจิฟ กล่าว
นอกจากนี้ มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD)เหล็กลวดคาร์บอนนำเข้าจากจีนได้หมดอายุไปเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.56ที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้บริษัทได้ร่วมทำงานกับกระรวงพาณิชย์ในการออกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดแบบถาวร ซึ่งจะมีการหารือเกี่ยวกับด้านเทคนิคกันอีกครั้ง แต่เนื่องจากขณะนี้เจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ยังไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จึงคาดว่ากระทรวงพาณิชย์จะสามารถออกมาตรการดังกล่าวได้ในราวเดือนมี.ค.นี้ โดยบริษัทเสนอให้ขึ้นภาษีนำเข้า 14-16% กับเหล็กลวดคาร์บอนจากจีน ทั้งนี้หากภาครัฐไม่สนับสนุนหรือออกมาตรการภาษี AD บริษัทอาจจะต้องพิจารณายกเลิกการผลิตสินค้าชนิดนี้ เพราะไม่สามารถแบกรับผลขาดทุนได้
ขณะที่รอมาตรการ AD บริษัทหันมาผลิตสินค้าไฮเอนด์มากขึ้น โดยปีนี้ บริษัท เหล็กก่อสร้างสยาม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยได้ขยายกำลังการผลิตเหล็กโครงสร้างขึ้นรูป หรือเหล็กตัดและดัดที่มีกำลังการผลิตอยู่ 3-3.5 พันตัน/เดือน ขยายอีกเท่าตัวเป็น 6-7 พันตัน/เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จใน ก.ย.-ต.ค.57 รวมทั้งเพิ่มสินค้าเหล็กคุณภาพ เอส 50 ที่เพิ่มความเหนียวหรือความแข็งแรงของการใช้งานได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะผลิตตามความต้องการของลูกค้า แต่ยอดขายส่วนนี้ยังไม่มาก นอกจากนี้ บริษัทจะลดค่าใช้จ่ายการบริหาร และจัดซื้อเศษเหล็กที่มีราคาต่ำจะช่วยอีกทาง รวมทั้งปรับปรุงบริการให้เข้าถึงลูกค้ามากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ คาดว่าปีนี้ความต้องการเหล็กทรงยาวจะเติบโตขึ้นได้ราว 4-5% ภายใต้คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของไทยที่จะเติบโตต่ำกว่า 3% เพราะคาดว่ายังมีหลายโครงการภาครัฐที่ยังเดินหน้าต่อเนื่อง เช่น รถไฟฟ้า เป็นต้น โดยราคาเหล็กทรงยาวขณะนี้ปรับขึ้นมาที่ 20,000 -25,000 บาท/ตัน สูงขึ้น 500 บาท/ตันจากปลายปี 56 เนื่องจากราคาเศษเหล็กที่ปรับตัวสูงขึ้น
นายราจิฟ กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างวางแผนประจำปีงวดปี 58 อย่างไรก็ดี ในงบปี 58 จะไม่มีการขยายกำลังการผลิต เพราะตลาดไม่เอื้ออำนวย โดยปัจจุบันบริษัทมีอัตราการใช้กำลังการผลิต 75% ของกำลังการผลิตรวม 1.7 ล้านตัน/ปี นอกจากนี้ บริษัทส่งออกไปลาว และ กัมพูชามากขึ้นโดยเฉพาะลาวที่มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่มีความต้องการเหล็กลวดคุณภาพสูงจำนวนมาก ปัจจุบันบริษัทมียอดส่งออกสัดส่วน 10% ของยอดขาย
สำหรับผลขาดทุนสะสม นายราจิฟ กล่าวว่า ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 2.8 พันล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินงานของ บมจ.เอ็น.ที.เอส.สตีลกรุ๊ป(NTS) บริษัทมี 2 แนวทางในการล้างผลขาดทุนสะสมดังกล่าว คือนำมาจากกาผลกำไรจากการดำเนินงาน และจะขายสินทรัพย์ออกไปคือเตาถลุงขนาดย่อม (Mini Blast Furnace) ซึ่งบริษัทได้ตั้งสำรองด้อยค่าไปหมดแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องรีบร้อนเจรจาขายออกไป ขณะนี้ก็ยังเจรจาขายอยู่ตลอด