"โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก ทุกวันนี้แทบทุกคนมีสมาร์ทโฟน ความต้องการใช้กระดาษเพื่อสิ่งพิมพ์มีแนวโน้มลดลง" นายพันเทพ สุภาไชยกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตภัณฑ์กระดาษไทย กล่าว
เยื่อเคมีละลายได้(Dissolving Pulp)เป็นวัตถุดิบที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม, บรรจุภัณฑ์(ที่ย่อยสลายได้)เป็นต้น ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ของเอสซีจี เปเปอร์ ลงทุนเบื้องต้น 400 ล้านบาทตั้งโรงงานแห่งแรกในไทย โดยเริ่มทำการผลิตเมื่อ 8 เดือนที่แล้ว มีกำลังการผลิต 9.6 หมื่นตัน/ปี ขณะที่ตลาดโลกมีความต้องการ 4 ล้านตัน/ปี ซึ่งบริษัทส่งออกในสัดส่วน 70% ตลาดหลัก คือ จีน เพื่อผลิตสิ่งทอ ส่วนอีก 30% ขายในประเทศให้ผู้ผลิตสินค้าเมลามีน
"เป็นตลาดที่มีศักยภาพและยังขยายตัวได้อีกมาก" นายพันเทพ กล่าว
ปัจจุบัน ราคาส่งออก Dissolving Pulp อยู่ที่ตันละ 890-900 ดอลลาร์/ตัน ขณะที่ราคาส่งออกเยื่อใยสั้นอยู่ที่ 600-610 ดอลลาร์/ตัน ซึ่งบริษัทมองว่าเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่จะเข้ามาทดแทนเส้นใยจากปิโตรเลียมที่นับวันจะลดน้อยลง ขณะเดียวกันยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้อีกมาก
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปเปอร์ เปิดเผยถึงกลยุทธ์และทิศทางดำเนินธุรกิจปี 57 ว่า จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกระดาษและบรรจุภัณฑ์และสายธุรกิจเยื่อกระดาษพร้อมพัฒนานวัตกรรมสินค้ามูลค่าเพิ่ม ตอบสนองผู้บริโภค โดยบริษัทได้เพิ่มกำลังผลิตกระดาษและบรรจุภัณฑ์ประมาณ 4 แสนตัน/ปี ทำให้มีกำลังผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์รวมประมาณ 2.3 ล้านตัน/ปี และกำลังผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้นจากการควบรวม 3 บริษัทในปี 56 รวมเป็น 1.03 ล้านตัน ทำให้เอสซีจี เปเปอร์เป็นผู้ผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์และกระดาษลูกฟูกรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน