ขณะที่สินแร่เหล็กและถ่านโค้ก ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของเรา ยังคงได้รับแรงกดดันด้านราคาจากสถานการณ์อุปทานล้นตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้จะส่งผลให้อัตรากำไรของธุรกิจโดยรวมปรับตัวดีขึ้น คาดว่าผลขาดทุนของธุรกิจโรงถลุงเหล็กจะน้อยลงอีก จากการที่เรามุ่งมั่นพยายามลดต้นทุน ทั้งจากการเพิ่มปริมาณการผลิตเหล็กแท่งแบนและอัตราการใช้ PCI (PCI Injection Rate) และจากโครงการต่างๆ เพื่อปรับลดต้นทุน ที่เรากำลังดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง
ส่วนแนวโน้มระยะยาวสำหรับปี 57 ยังคงเชื่อมั่นที่จะเห็นธุรกิจดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายด้านทั้งการเติบโตของยอดขาย การลดต้นทุน ส่วนต่างระหว่างราคาที่ดีขึ้น การขยายตลาดผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มพิเศษ และ การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต
"นับเป็นเวลาเกือบสามปีที่เราได้ลงทุนเพื่อเป็นผู้ผลิตเหล็กครบวงจร ซึ่งเราแบกรับความยากลำบากมาพอสมควร ตอนนี้ถึงเวลาที่เราจะเก็บผลประโยชน์จากการเชื่อมโยงธุรกิจเหล็กครบวงจรนี้" นายวิน กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทคาดการณ์ว่าการบริโภคเหล็กในปี 57 จะปรับตัวสูงขึ้น โดยสถาบันเหล็กโลก (World Steel Association: WSA) ได้ประเมินว่าความต้องการบริโภคสินค้าเหล็กของโลกจะขยายตัวร้อยละ 3.3 หรือเพิ่มขึ้นไปที่ 1,523 ล้านตัน คาดว่าอัตราการเติบโตของความต้องการเหล็กของประเทศจีนในปี 57 ยังคงคาดหมายว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 อินเดียเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5.6 รวมถึงประเทศอื่นๆ ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กหลักของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา บราซิล และกลุ่มสหภาพยุโรป
สำหรับอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่าแนวโน้มระดับความต้องการบริโภคสินค้าเหล็กในปี 57 จะเผชิญกับความผันผวนตามสภาวะเศรษฐกิจมหภาคของประเทศและสภาวะตลาดในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้เหล็ก ได้แก่ อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น โดยที่อุตสาหกรรมก่อสร้าง หากได้แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนของภาครัฐ ก็จะช่วยเพิ่มอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ได้ ทั้งนี้ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าในปี 57 จะมีปริมาณการใช้เหล็ก 18 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 จากปี 56
ส่วนในไตรมาส 4/56 SSI มีรายได้รวมของกลุ่ม 16,100 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 จากผลกระทบจากเหตุการณ์การเมือง แต่ถึงแม้รายได้ของธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อนลดลงมาร้อยละ 27 จากผลกระทบดังกล่าว แต่บริษัทได้รับรายได้ทดแทนจากธุรกิจโรงถลุงเหล็กซึ่งขายเหล็กแท่งแบนให้แก่บุคคลภายนอกที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 59 โดยเฉพาะสู่ตลาดอเมริกาเหนือ ซึ่งแข็งแกร่งตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ความหลากหลายทางภูมิศาสตร์ตลาด (geographical market diversity) ซึ่งเป็นจุดแข็งหนึ่งของรูปแบบธุรกิจเราที่คนมักมองไม่เห็นได้เริ่มเข้ามามีบทบาท ทำให้เราสามารถบริหารความเสี่ยงโดยกระจายสินค้าเข้าสู่ตลาดที่แข็งแกร่งกว่า เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส ธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อนพลิกกลับมามีกำไรสุทธิจากการบริหารค่าการรีดที่ดีขึ้น ธุรกิจโรงถลุงเหล็กมีผลขาดทุนในระดับใกล้เคียงเดิมถึงแม้จะมีส่วนต่างราคาและปริมาณขายที่ดีขึ้น แต่มีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากปัญหาการผลิตของโรงไฟฟ้า ซึ่งเรากำลังซ่อมแซมจุดนี้อยู่
"ในปี 56 เราสามารถสร้างสถิติใหม่สำหรับรายได้รวมของกลุ่ม 65,387 ล้านบาท และปริมาณขายเหล็กรวม 3,243 พันตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 และร้อยละ 31 ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นผลจากการปรับเปลี่ยนตัวเองจากผู้ผลิตเหล็กกลางน้ำมาสู่ผู้ผลิตเหล็กครบวงจร อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่าเหล็กแท่งแบน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของธุรกิจโรงถลุงเหล็กของเราเป็นที่ต้องการในตลาดโลกอย่างมาก เห็นได้จากปริมาณขายร้อยละ 40 หรือ 1,100 พันตัน เป็นการขายให้แก่บุคคลภายนอก นอกจากนี้ EBITDA รวมของกลุ่ม ปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก โดยลดลงร้อยละ 73 จากติดลบ 10,597 ล้านบาทในปี 55 มาเป็นติดลบเพียง 2,888 ล้านบาทในปี 56 สาเหตุหลักมาจาก 1) ธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อนได้พลิกมามีกำไร และ 2) ธุรกิจโรงถลุงเหล็กขาดทุนลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง เมื่อปริมาณการผลิตสูงขึ้นและได้รับประโยชน์จากการประหยัดต้นทุนต่อขนาดและประสิทธิภาพที่สูงขึ้น"