ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม 360,767 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 3, 2014 16:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (24 – 28 กุมภาพันธ์ 2557) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ในสัปดาห์นี้ มีมูลค่ารวม 360,767 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 72,153 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 14% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 59% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 213,022 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 99,448 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 6,224 ล้านบาท หรือคิดเป็น 28% และ 2% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB176A (อายุ 3.3 ปี) LB196A (อายุ 5.3 ปี) และ LB21DA (อายุ 7.8 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 20,668 ล้านบาท 20,243 ล้านบาท และ 15,032 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB14318A (อายุ 14 วัน) CB14410A (อายุ 41 วัน) และ CB14529B (อายุ 91 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 32,475 ล้านบาท 19,201 ล้านบาท และ 18,334 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) รุ่น MINT155A (A) มูลค่าการซื้อขาย 450 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด รุ่น MPSC16OB (A+) มูลค่าการซื้อขาย 447 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รุ่น PTTC153A (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 313 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (Yield) อายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ปรับตัวลดลงในช่วงประมาณ -3 ถึง -9 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) ภายหลังถ้อยแถลงของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาสหรัฐ ระบุว่า Fed อาจปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) หากเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด จากท่าทีของประธาน Fed ที่ดูกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น หลังจากตัวเลขต่างๆ ที่ประกาศออกมาช่วงหลังค่อนข้างอ่อนแอกว่าที่คาด ทำให้นักลงทุนประเมินว่า การปรับลดขนาดของมาตรการ QE อาจจะชะลอลง ส่งผลให้มีเม็ดเงินต่างชาติไหลกลับเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยอีกครั้ง โดยเฉพาะในตราสารหนี้ระยะยาว อีกทั้ง จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป และสถานการณ์ทางการเมืองที่ตึงเครียดในยูเครน รวมถึงภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ หลัง ธปท. แถลงตัวเลขเศรษฐกิจ เดือน ม.ค. 57 ที่มีแนวโน้มในเชิงลบ และส่งสัญญาณว่า GDP ตลอดทั้งปี 57 อาจเติบโตต่ำกว่า 3% หากสถานการณ์ทางการเมืองยังคงยืดเยื้อ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้นักลงทุนกลับเข้ามาถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยในตลาดตราสารหนี้เพิ่มมากขึ้น จากแรงซื้อที่ยังคงมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง บวกกับ Supply ของพันธบัตรรัฐบาลที่ยังมีอยู่ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากจะยังไม่มีการประมูลเพิ่มเติมในช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้า ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวลดลงในที่สุด

ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติมียอด ขายสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกัน 876 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 2,660 ล้านบาท และ ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี) 3,536 ล้านบาท ทางด้านนักลงทุนรายย่อยมียอดขายสุทธิ 234 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ