"ปีนี้ยอดขายยังเป็นบวกในอัตราปรับขึ้น แผนขยายสาขาปีนี้ 600 สาขา จากปีก่อนที่ 607 สาขา ขณะที่ CPALL เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ MAKRO ก็ยังมีเป้าขยายสาขาแม็คโครต่อเนื่อง เพราะบริษัทยังมียอดขายโตต่อเนื่อง" นายเกรียงไกร กล่าว
ในปีนี้ตั้งงบลงทุน 8,000-9,000 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่สูงกว่า 2-3 ปีก่อน เพื่อขยายสาขาใหม่ ปรับปรุงสาขาเดิม ลงทุนศูนย์กระจายสินค้า และบริษัทลูกธุรกิจอาหาร เบเกอรี่ และตั้งบริษัทใหม่ธุรกิจชอปปิ้งออนไลน์
"ในทุกธุรกิจมีโอกาส การขยายสาขา ลงทุนโรงงานผลิตเบเกอรี่ ศูนย์กระจายสินค้า เรามีความเชื่อมั่นจึงต้องลงทุนต่อไป"นายเกรียงไร กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทมีแผนเสนอขายหุ้นกู้มีหลักประกัน ไม่ด้อยสิทธิ และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ วงเงินไม่เกิน 40,000 ล้านบาท อายุ 3 ปี 5 ปี 7 ปี และ 10 ปี ให้กับนักลงทุนสถาบันและประชาชนทั่วไป ในวันที่ 24 -26 มี.ค.นี้ โดยมีธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารธนชาต บล.ภัทร เป็นผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้ และมีบล.โนมูระ พัฒนสิน เป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายหุ้นกู้
หุ้นกู้ที่จัดจำหน่ายในครั้งนี้เป็นการออกหุ้นกู้ตามมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นที่ได้อนุมัติการออกและเสนอขายหุ้นกู้ในวงเงินไม่เกิน 90,000 ล้านบาท โดย CPALL ได้ออกและเสนอเสนขายหุ้นกู้ไปแล้วจำนวน 50,000 ล้านบาทในเดือนต.ค.56 ที่ผ่านมา
การเสนอขายหุ้นกู้ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปทดแทนเงินกู้ยืม จึงไม่ได้เป็นการก่อหนี้เพิ่ม
นายเกรียงไกร กล่าวว่า การเสนอขายหุ้นกู้ครั้งแรก กำหนดอัตราดอกเบี้ยคือ หุ้นกู้อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.10% ต่อปี, อายุ 5 ปี ดอกเบี้ย 4.70% ต่อปี, อายุ 7 ปี ดอกเบี้ย 5.10% ต่อปี และ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 5.35% ต่อปี ซึ่งการออกหุ้นกู้ครั้งใหม่นี้อาจเทียบเคียงกับครั้งที่แล้ว แต่รอดูกระบวนการจัดจำหน่ายหุ้นกู้และกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามตลาดที่จะต้องประชุมอีกครั้ง โดยรอดูการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 12 มี.ค.นี้จะปรับลดดอกเบี้ยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม สภาวะการณ์ปัจจุบัน ดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง การกำหนดดอกเบี้ยหุ้นกู้ก็คงจะอิงดอกเบี้ยในตลาด และดอกเบี้ยกลางเป็นเบ้นมารค ทั้งนี้ เชื่อว่าในประเทศยังมีสภาพคล่อง และด้วยความที่บริษัทมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ บริษัทเชื่อว่าการออกหุ้นกู้ครั้งนี้จะได้รับการตอบรับที่ดี
ปัจจุบันบริษัทมีหนี้เงินกู้ 1.8 แสนล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ระยะสั้น 1.3 แสนล้านบาท หุ้นกู้ 5 หมื่นล้านบาท ถ้าออกหุ้นกู้ครั้งนี้อีก 4 หมื่นล้านบาท (เพื่อใช้หนี้เงินกู้ระยะสั้นที่เป็นสกุลดอลลาร์) สัดส่วนหนี้ก็จะกลายเป็นเงินกู้ระยะสั้น 9 หมื่นล้านบาท หุ้นกู้ 9 หมื่นล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการเปลี่ยนวงเงินกู้ระยะสั้นเป็นระยะยาว โดยใช้ 3 แนวทาง โดยกู้จากสถาบันการเงิน ได้แก่ 1.กู้สกุลดอลลาร์จากสถาบันการเงินต่างประเทศ 2.กู้เป็นเงินบาทจากธนาคารพาณิชย์ในประเทศ และ 3.กู้เป็นเงินบาทจากธนาคารต่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งหังจากรีไฟแนนซ์ทั้งหมดแล้วจะทำให้ต้นทุนอัตราดอกเบี้ยรวมน่าจะลดลง เพราะโดยปกติการออกหุ้นกู้ดอกเบี้ยจะลดลงต่ำกว่ากู้สถาบันการเงินอยู่แล้ว โดยเงินกู้ 1.8 แสนล้านบาท ดอกเบี้ยเฉลี่ย 5% หลังรีไฟแนนซ์น่าจะลดลง คาดกระบวนการรีไฟแนนซ์จะเสร็จไตรมาส 2/57
นายอนุวัฒน์ ร่วมสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายตลาดตราสารทุน บล.ภัทร กล่าวว่า หลังประชุมกนง.กลางมี.ค.น่าจะเห็นเทรนด์อัตราดอกเบี้ย คาดปรับลง เพราะดอกเบี้ยปัจจุบันลงอยู่แล้ว