บริษัทตั้งงบลงทุนกว่า 8,000 ล้านบาทในปี 57 ต่ำกว่าปีก่อนที่ใช้ไป 9,000 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 5,000 ล้านบาท และซื้อที่ดิน 3,000 ล้านบาท โดยบริษัทตั้งเป้าขยายพื้นที่เช่าใหม่เพิ่มอีก 3.5 แสนตารางเมตร(ตร.ม.)ในปีนี้ แบ่งเป็นโรงงานให้เช่า 1 แสน ตร.ม.และคลังสินค้าให้เช่า 2.5 แสน ตร.ม.
นายวีรพันธ์ กล่าวว่า ในส่วนโรงงานมีการเซ็นสัญญาแล้ว 4 หมื่น ตร.ม.ที่เหลือจะสร้างเพิ่มอีกโดยเน้นพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งปีนี้จะเพิ่มฐานลูกค้าด้วยโรงงานสำเร็จรูปพร้อมใช้ในนิคมฯเอเชีย สุวรรณภูมิ ที่เพิ่งผ่านการอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA)และเริ่มสร้างแล้ว รวมทั้งที่ดินในนิคมอุตสาหกรมโรจนะ จ.ปราจีนบุรี คาดว่าจะแล้วเสร็จต้นปี 58 ขณะที่คลังสินค้า มีเซ็นสัญญาแล้ว 1.62 แสน ตร.ม.และจะสร้างเพิ่มอีก 1.6 แสน ตร.ม.คาดทยอยสร้างเสร็จในปีนี้ หลังจากซื้อที่ดินไว้แล้ว เช่น ที่วังน้อย และบางพลี
สำหรับบริษัท ไทยคอน โลจิสติกส์ พาร์ค (TPARK)ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มนั้น ช่วงปี 56 มีการซื้อที่ดินเพิ่มแล้ว 1,000 ไร่ และปีนี้มีแผนซื้อที่ดินเพิ่มอีกหลายร้อยไร่ เช่น ย่านบางนา บางพลี รวมถึงในภาคเหนือ หลังจากขยายไปภาคอีสาน และภาคใต้แล้ว นอกจากนี้ ยังมีแผนจะสร้างคลังสินค้ารูปแบบคุณภาพสูงพร้อมใช้ที่ จ.ขอนแก่น ซึ่งซื้อที่ดินไว้แล้ว 200 ไร่ และที่จ.สุราษฎรธานี มีที่ดินแล้ว 60-70 ไร่
นายวีรพันธ์ กล่าวว่า บริษัทยังแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ๆ ในต่างประเทศ ล่าสุดอยู่ระหว่างเจรจาโครงการคลังสินค้าที่เวียดนาม คาดสรุปเร็วๆ นี้ โดยหากเป็นลูกค้าในต่างประเทศบริษัทก็จะพัฒนาคลังสินค้าในรูปแบบที่สร้างตามความต้องการของลูกค้ และยังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะขยายการลงทุนไปยังพม่าและอินโดนีเซีย เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)
ด้านกำไรสุทธิในปีนี้ตามแผนจะสูงกว่าปีก่อน 25-30% โดยในปี 56 บริษัทมีกำไร 1,414 ล้านบาท สูงสุดรอบ 24 ปี แต่กำไรในปีนี้ยังต้องขึ้นกับยอดขายสินทรัพย์เข้ากองทุนต่าง ๆ และการถือหุ้นในแต่ละกองทุน ซึ่งตามแผนจะถือใน TGROWTH 20%
ทั้งนี้ เม็ดเงินลงทุนในปีนี้ 8,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งจะมาจากขายสินทรัพย์เข้ากองทุนราว 5.7-5.8 พันล้านบาท รายได้จากค่าเช่า 1,000 ล้านบาท เงินปันผลจากกองทุนที่ถือราว 300 ล้านบาท รวมทั้งการเพิ่มทุนด้วยการออก TSR สัดส่วน 5 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่ และเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ โดยคาดกระบวนการจะแล้วเสร็จในไตรมาส 2/57 ซึ่งจะจัดประชุมคณะกรรมารบริษัทเม.ย.เพื่อกำหนดราคา ปัจจุบันต้นทุนทางการเงินเฉลี่ยที่ 4.1%
"การเพิ่มทุนเพราะในอดีตเราขยายโลเคชั่นจำนวนมากทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุนสูงที่ 2.1 เท่า และโปรเจกต์ทีพาร์คต้องใช้เวลาสร้าง 3-5 ปี เช่น ที่แหลมฉบัง วังน้อย พิจารณาแล้วควรเพิ่มทุนดีกว่าเป็นฐานทุนที่ใหญ่ขึ้น และถ้าจะเริ่มลงทุนในเวียดนามก็ต้องใช้เงินทุนอีกมาก"นายวีรพันธ์ กล่าว
นายวีรพันธ์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์การเมืองช่วง 2 เดือนแรกยอมรับว่ามีผลกระทบต่อลูกค้าใหม่บ้าง เนื่องจากมีลูกค้าเป็นญี่ปุ่นหลายราย โดยเฉพาะลูกค้าใหม่ที่ไม่เคยเข้ามาลงทุนในไทยมากก่อนก็เลื่อนออกไปบ้าง แต่คาดว่าจะค่อยๆดีขึ้น รวมทั้งการขอรับการส่งเสริมการลงทุน(BOI) ก็มีปัญหายังไม่สามารถอนุมัติได้เพราะยังเป็นรัฐบาลรักษาการ รวมทั้งโครงการโซลาร์รูฟก็อยู่ระหว่างขอใบอนุญาตโรงงาน 4 ตอนนี้ยังมีปัญหาการรอรัฐบาลใหม่มาอนุมัติ
"2 เดือนนี้เห็นลูกค้าลดลง ถ้ารายเก่าที่ขยายการลงทุนก็ไม่กลัว เพราะชินการเมืองไทย แต่ถ้ารายใหม่ดีเลย์เกือบหมด แต่อย่างไรก็ตาม ต่างชาติก็ยังมองสนใจไทยอยู่"นายวีรพันธ์ กล่าว