นายสหัส ประทักษ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทตั้งงบลงทุน 2 หมื่นล้านบาท ไม่รวมเงินที่ใช้ในการซื้อกิจการ ทั้งนี้จะนำไปลงทุนในโครงการที่กำลังก่อสร้าง ได้แก่ โรงไฟฟ้าขนอมหน่วยที่ 4 (ถือ 99.99%) จ.นครศรีธรรมราช กำลังการผลิต 930 เมกะวัตต์ สัญญาซื้อขายไผ 25 ปี คาดจะเริ่มจ่ายไฟ (COD) ได้ในมิ.ย.59 , โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมชัยภูมิ วินด์ฟาร์ม จ.ชัยภูมิ สัญญาซื้อขายไฟตามสัดส่วนถือหุ้น 81 เมกะวัตต์ คาด COD ธ.ค.59, โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม โบโค ร็อค วินด์ฟาร์ม รัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย มีปริมาณพลังงานไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขาย 113 เมกะวัตต์ คาด COD ก.พ.58
ขณะที่คาดว่าการเข้าลงทนโรงไฟฟ้าเคซอนส่วนต่อขยาย กำลังผลิต 500 เมกะวัตต์ ในประเทศฟิลิปปินส์ จะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้คาดว่าจะเจรจาค่าไฟได้เสร็จจากนั้นจะเจรจากับเรกูเลเตอร์ของฟิลิปปินส์ ซึ่งการเจรจาไม่มีอุปสรรคแต่อย่างใด ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนในส่วนนี้ประมาณ 2 พันล้านบาท
นายสหัส คาดว่า กำไรในปีนี้น่าจะใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่มีกำไรก่อนผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี และค่าตัดจำหน่ายที่ตีราคาสินทรัพย์เพิ่มของเคซอนจำนวน 7.6 พันล้านบาท แม้ว่าโรงไฟฟ้าระยองและโรงไฟฟ้าแก่งคอยจะทำรายได้ต่ำลงกว่าปีก่อน เนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้าใกล้หมดอายุสัญญา แต่คาดว่าโครงการพลังงานทดแทน 4 โครงการในปีนี้สามารถรับรู้รายได้เต็มปีจากที่เริ่มทยอยจ่ายไฟในปีที่แล้ว ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานอาทิตย์บีงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ (ถือหุ้น 60%) กำลังผลิต 6.5 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลพบุรี โซลาร์ ส่วนขยาย (ถือหุ้น 33.33%) โรงไฟฟ้าพลังงานลมเทพนา จ.ชัยภูมิ (ถือหุ้น 90%) และโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ภายใต้โครงการโซลาร์โก ที่มีโรงไฟฟ้า 6 แห่ง มี 5 แห่งในจ.นครปฐม และอีก 1 แห่งที่จ.สุพรรณบุรี (ถือหุ้น 49%) มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าร่วม 41 เมกะวัตต์ ซึ่งเริ่มจ่ายไฟเมื่อเดือนพ.ย. และ ธ.ค.56 รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มีค่า adder สูงถึง 10 บาทหน่วยนาน 10 ปี จะช่วยให้มีกำไรสูง
นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาเข้าซื้อกิจการ M&A จำนวน 3-4 ดีล ทั้งในประเทศ และในต่างประเทศ โดยในประเทศที่เจรจากันอยู่เป็นโรงไฟฟ้า SPP ส่วนในต่างประเทศเป็นโรงไฟฟ้า IPP และ โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ทั้งนี้โครงการที่เจรจาเข้าซื้อจะเป็นโครงการที่ดำเนินการอยู่แล้ว หากบริษัทสามารถเจรจาได้ก็จะสามารถรับรู้รายได้และกำไรทันที ก็จะทำให้ช่วยหนุนผลประกอบการปีนี้และในปีหน้าที่กำลังการผลิตใหม่ยังไม่เข้ามา
ขณะที่บริษัทได้ยื่นข้อเสนอขยายเวลาโรงไฟฟ้าระยองที่มีกำลังผลิต 1.2 พันเมกะวัตต์ ออกไปอีก 5 ปี จากที่จะสิ้นสุดสัญญาในเดือนธ.ค. 57 ซึ่งคาดว่าจะรู้ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้จะได้ปรับเปลี่ยนโรงไฟฟ้ารองรับได้ต่อเนื่องหากได้รับการต่ออายุ โดยไม่จำเป็นต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี
สำหรับการขยายการลงทุนในพม่า บริษัทก็ยังส่งข้อมูลการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากับทางการพม่าที่จะลงทุนในทวาย โดยบริษัทจะเข้าไปลงทุนผ่านกลุ่มการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโครงการทวายเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับพม่าจึงต้องรอรัฐบาลใหม่เดินหน้าต่อ และที่สำคัญกฎระเบียบ การลงทุนในพม่ายังสร้างความมั่นใจกับสถาบันการเงินไม่ได้ ทั้งเรื่องภาษีที่เก็บมากกว่าไทย ทางพม่าไม่ต้องการให้ไทยเข้าไปลงทุนเพื่อส่งไฟฟ้ากลับเข้าไทยหมดแต่ก็เจรจากันได้ว่าผลิตให้ใช้ในพม่า และทีเหลือส่งไปไทย อีกทั้งกลัวความเสี่ยงที่ทางการพม่าอาจจะยึดโรงไฟฟ้ากลับคืนเมื่อไรก็ได้
ส่วนการลงทุนเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซียที่มีขนาดสำรอง 140 ล้านตันที่เกาะสุมาตรา ซึ่งบริษัทถือหุ้น 40% ขณะนี้ราคาขายถ่านหินยังอยู่ระดับต่ำ ซึ่งขายได้ 55-60 เหรียญ/ตัน จึงขายพออยู่ได้ อย่างไรก็ตามบริษัทได้ศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาด 100-200 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าผลการศึกษาใช้เวลาประมาณ 4-5 เดือนและจะนำไปเจรจากับผู้ร่วมทุนในการลงทุนดังกล่าวต่อไป
นายสหัส กล่าวว่า บริษัทมุ่งรักษาระดับรายได้อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 5 ปีนี้ บริษัทรักษาอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) อย่างน้อย 10% ต่อปี จากปี 56 บริษัทมี ROE อยู่ที่ระดับ 10.36% ที่ผ่านมาบริษัทเคยมีระดับ ROE สุงสุดที่ระดับ 20% ในปี 50 ซึ่งเป็นช่วงที่ซื้อโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี และเคยมีระดับ ROE ต่ำสุดที่ 8.8% ในปี 54
ปัจจุบัน EGCO มีโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศที่เดินเครื่องพาณิชย์แล้ว จำนวน 20 แห่ง คิดเป็นปริมาณพลังไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายตามสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 4,518 เมกะวัตต์ และมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา จำนวน 8 โครงการ คิดเป็นปริมาณพลังไฟฟ้าตามสัญญซื้อขายตามสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 1,613 เมกะวัตต์