ทริสเรทติ้งยังคงอันดับเครดิตองค์กรบริษัทที่ระดับ “BBB" และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “BBB-"
อันดับเครดิตของบริษัทยังคงสะท้อนถึงฐานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งจากการเป็นผู้นำในธุรกิจให้บริการโทรคมนาคมที่มีเทคโนโลยีโครงข่ายสื่อสารที่หลากหลาย ตลอดจนความแข็งแกร่งทางการตลาดในธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband) และธุรกิจโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก รวมทั้งความคาดหวังว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทจะยังคงให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกดังกล่าวมีข้อจำกัดจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจหลัก รวมถึงค่าใช้จ่ายและการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นมากเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน และภาระหนี้จำนวนมากของบริษัท
การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Negative" หรือ “ลบ" จากเดิม “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงฐานทุนของบริษัทที่อ่อนแอลง รวมทั้งข้อจำกัดในการปรับใช้กลยุทธ์ทางธุรกิจและความยืดหยุ่นทางการเงินภายใต้ความท้าทายที่สูงขึ้นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทยังคงอ่อนแอลง หรือโครงสร้างเงินทุนไม่ปรับดีขึ้นในช่วง 6-18 เดือนข้างหน้า แนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเป็น “Stable" หรือ “คงที่" หากบริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งขึ้นหรือมีการปรับโครงสร้างเงินทุนอย่างมีนัยสำคัญ
บริษัททรู คอร์ปอเรชั่นก่อตั้งในปี 2533 และมีธุรกิจหลัก 3 กลุ่มซึ่งประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจทรูออนไลน์ (TrueOnline) ซึ่งให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วประเทศ กลุ่มธุรกิจทรูโมบาย (True Mobile) ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และกลุ่มธุรกิจทรูวิชั่นส์ (TrueVisions) ให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก โดยธุรกิจทั้ง 3 กลุ่มสร้างรายได้ให้บริษัทในสัดส่วน 24% 66% และ 10% ตามลำดับ ในขณะที่สัดส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ 61% 30% และ 9% ตามลำดับ
บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง โดยสถานะทางการตลาดที่เข้มแข็งของกลุ่มทรูออนไลน์สะท้อนจากสัดส่วนทางการตลาดทั่วประเทศจากรายได้การให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงประมาณ 39% และในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลประมาณ 68% บริษัทยังเป็นผู้ให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกรายใหญ่ที่สุด รวมทั้งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในลำดับที่ 3 ของประเทศ กลุ่มทรูโมบายมีสัดส่วนรายได้ทางการตลาดจากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ที่ประมาณ 16% ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทยังสะท้อนถึงความคาดหวังว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีกลุ่มธุรกิจที่หลากหลายจะให้การสนับสนุนแก่บริษัทอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ณ เดือนสิงหาคม 2556 เครือเจริญโภคภัณฑ์มีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทประมาณ 63%
สถานะทางการเงินของบริษัทในปี 2556 อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งและอยู่ในระดับอ่อนแอมาก บริษัทมีรายได้ในปี 2556 เพิ่มขึ้น 8% มาอยู่ที่ 9.62 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม การลงทุนในโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลุ่มทรูโมบาย ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโครงข่าย 2จี รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในกลุ่มทรูโมบายและกลุ่มทรูวิชั่นส์ทำให้อัตราส่วนกำไร (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย/รายได้) ของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ 16.6% ในปี 2556 เปรียบเทียบกับ 18.7% ในปี 2555 และ 23.8% ในปี 2554
ในช่วงปี 2557-2559 สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 9.4-11.1 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 6% ต่อปี โดยรายได้จากการให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงบนโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐาน และบริการด้านข้อมูลในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก รายได้ของบริษัทมีความเสี่ยงที่จะลดลงได้ในช่วงปลายปี 2557 เมื่อระยะเวลา 1 ปีสำหรับการให้บริการของทรูมูฟหมดอายุลง ทั้งนี้ กลุ่มทรูโมบายอาจไม่สามารถโอนย้ายผู้ใช้บริการภายใต้โครงข่าย 2จี มาได้หมดและอาจทำให้รายได้ของกลุ่มทรูโมบายลดลงประมาณ 5% ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้ง
อัตราส่วนกำไรของบริษัทน่าจะยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรงในปี 2557 และน่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2558 ไปอยู่ที่ระดับประมาณ 25% หลังจากที่โครงข่าย 2จี หยุดให้บริการและผู้ใช้บริการทั้งหมดอยู่ภายใต้โครงข่าย 3จี ซึ่งมีต้นทุนใบอนุญาตที่ต่ำกว่า ในปี 2556 บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ 1.76 หมื่นล้านบาท และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานอยู่ที่ 7.2 พันล้านบาท บริษัทน่าจะสามารถสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้ประมาณ 1-1.2 หมื่นล้านบาทในปี 2557 จากนั้นกระแสเงินสดจากการดำเนินงานน่าจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 1.8-1.9 หมื่นล้านบาทต่อปีในปี 2558-2559 เนื่องจากอัตราส่วนกำไรที่ดีขึ้น สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนซึ่งรวมถึงใบอนุญาต 3จี ของบริษัทจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน
ในเดือนธันวาคม 2556 บริษัทได้รับเงินสดสุทธิจากเงินที่นำกลับไปลงทุนในกองทุนประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาทจากการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน บริษัทมีข้อผูกพันด้านรายจ่ายและการโอนสิทธิในการรับรายได้ให้แก่กองทุนประมาณ 5 พันล้านบาทต่อปีเป็นระยะเวลาประมาณ 12-14 ปี ทริสเรทติ้งถือว่ามูลค่าปัจจุบันของรายจ่ายผูกพันดังกล่าวที่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาทเป็นหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ย ดังนั้น ภาระหนี้ของบริษัทคาดว่าจะไม่ปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญแม้ว่าบริษัทจะนำเงินที่ได้รับบางส่วนจากการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานไปชำระคืนหนี้ ณ สิ้นปี 2556 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ระดับ 96.5%
ทริสเรทติ้งคาดว่าฐานทุนของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นหลังจากบริษัทบันทึกกำไรที่ยังไม่ได้รับรู้จากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานรวมประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาทในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทเผชิญความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการที่กลุ่มธุรกิจหลักทั้ง 3 ธุรกิจจะยังอยู่ภายใต้แรงกดดันจากการแข่งขันและการลงทุนในขณะที่ฐานทุนของบริษัทอยู่ที่ 4.7 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2556 ทั้งนี้ อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันของบริษัทต่ำกว่าอันดับเครดิตของบริษัทอยู่ 1 ขั้นเนื่องจากบริษัทมีสัดส่วนหนี้ที่มีหลักประกันต่อสินทรัพย์ในระดับสูง