พร้อมกันนี้ ทริสเรทติ้งยังคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A" เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่" ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระคืนหุ้นกู้ที่จะหมดอายุในปี 2557 และใช้ในการลงทุนของบริษัท อันดับเครดิตสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่ดี และสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ ความหลากหลายของธุรกิจและสถานที่ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนพื้นฐานที่แข็งแกร่งของบริษัทด้วย
อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากนโยบายการเติบโตและการลงทุนเชิงรุกของบริษัท ลักษณะของธุรกิจโรงแรมที่ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งการแข่งขันที่รุนแรง และอัตรากำไรที่ต่ำของธุรกิจอาหารบริการด่วนและธุรกิจจัดจำหน่าย ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะสามารถดำรงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดอย่างต่อเนื่อง สามารถบริหารจัดการสมดุลระหว่างการลงทุนและแหล่งเงินทุนเพื่อไม่ให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนสูงมากจนเกินไป และเพื่อรักษาคุณภาพเครดิตของบริษัท
บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ก่อตั้งในปี 2521 โดย Mr. William Ellwood Heinecke โดยดำเนินธุรกิจหลัก 3 ประเภท ได้แก่ 1) ธุรกิจโรงแรมและพัฒนาโครงการ 2) ธุรกิจอาหารบริการด่วน และ 3) ธุรกิจจัดจำหน่ายและรับจ้างผลิตสินค้า ในปี 2556 รายได้หลักของบริษัทมาจากธุรกิจอาหารบริการด่วนและธุรกิจโรงแรมคิดเป็นสัดส่วน 41.3% และ 37.1% ของรายได้รวม ตามลำดับ ในขณะที่ธุรกิจจัดจำหน่ายและธุรกิจที่อยู่อาศัยสร้างรายได้คิดเป็น 10.4% และ 9.6% ของรายได้รวม ตามลำดับ
ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2556 โรงแรมภายใต้การบริหารของบริษัทประกอบด้วยโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของ 19 แห่ง (2,753 ห้อง) โรงแรมภายใต้การร่วมทุน 16 แห่ง (896 ห้อง) โรงแรมภายใต้สัญญาบริหารโครงการเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ 44 แห่ง (5,897 ห้อง) และโรงแรมภายใต้การรับจ้างบริหารจัดการ 24 แห่ง (3,254 ห้อง) โดยโรงแรมของบริษัทตั้งอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวชั้นนำใน 13 ประเทศซึ่งครอบคลุมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อาฟริกาใต้ และตะวันออกกลาง บริษัทบริหารและดำเนินงานโรงแรมเหล่านี้ภายใต้เครือโรงแรมที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก เช่น Four Seasons, Marriott และ St. Regis และภายใต้เครือโรงแรมของบริษัทเองคือ Anantara, Oaks, Elewana, Naladhu และ Avani
สำหรับธุรกิจอาหารบริการด่วนนั้น บริษัทดำเนินกิจการผ่านบริษัทย่อยคือ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (MFG) ซึ่งก่อตั้งในปี 2523 MFG เป็นผู้ดำเนินธุรกิจอาหารบริการด่วนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยเป็นเจ้าของและผู้ประกอบการแบบแฟรนไชส์จากต่างประเทศจำนวน 4 แบรนด์ ได้แก่ “สเวนเซ่นส์" “ซิซซ์เล่อร์" “แดรี่ ควีน" และ “เบอร์เกอร์ คิง" แบรนด์สินค้าของบริษัทเอง ได้แก่ “เดอะ พิซซ่า คอมปะนี" “เดอะค็อฟฟีคลับ" “ริบส์ แอนด์ รัมพ์" “ไทยเอ็กเพรส" และ “Beijing Riverside and Courtyard (Riverside)" ในประเทศจีน ณ สิ้นปี 2556 MFG มีร้านอาหารเปิดให้บริการรวม 814 แห่ง ตลอดจนร้านแฟรนไชส์และแฟรนไชส์ย่อยอีกประมาณ 730 แห่งในกว่า 7 ประเทศ
นอกจากนี้ บริษัท ไมเนอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (MINOR) ยังเป็นบริษัทย่อยอีกแห่งหนึ่งของบริษัทซึ่งดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง และโรงงานรับจ้างผลิตสินค้าด้วย โดยมีแบรนด์สินค้าที่สำคัญ อาทิ Esprit, Gap, Bossini, Charles & Keith, Red Earth ฯลฯ
ในปี 2556 บริษัทมีรายได้รวมทั้งสิ้น 34,669 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับปี 2555 โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการเติบโตของรายได้ในทุกส่วนธุรกิจของ MINT ธุรกิจอาหารบริการด่วนเป็นธุรกิจที่เติบโตสูงที่สุดในทุกกลุ่มธุรกิจของบริษัท โดย MINT มีรายได้จากธุรกิจอาหารบริการด่วน รวมรายได้ค่าแฟรนไชส์ของธุรกิจอาหารในปี 2557 เท่ากับ 14,309 ล้านบาท เติบโต 17% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่รายได้ในส่วนของธุรกิจโรงแรม รวมถึงธุรกิจสปา และธุรกิจรับจ้างบริหารโรงแรมเติบโตขึ้น 5% ในปี 2556 เป็น 12,878 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปี 2555 การกระจายตัวของกลุ่มธุรกิจโรงแรมของบริษัทไปในหลายประเทศ ช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากความผันผวนของธุรกิจโรงแรม และปัจจัยเสี่ยงภายนอกจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ซึ่งส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อบริษัท เนื่องจากสัดส่วนรายได้จากโรงแรมที่อยู่ในกรุงเทพฯ ของบริษัท คิดเป็นสัดส่วน 7% ของรายได้รวมทั้งหมดของบริษัท
อย่างไรก็ตาม การชุมนุมประท้วงที่ยืดเยื้อ จะส่งผลด้านลบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว และกดดันระดับการบริโภคในประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัท กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับรายได้จากการขาย ในปี 2556 บริษ้ทมี EBITDA เท่ากับ 8,363 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปีก่อน ในขณะที่อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทยังคงอยู่ที่ 17.7%
ในขณะที่โครงสร้างเงินทุนของบริษัทดีขึ้นเป็นผลจากส่วนของผู้ถือหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้นจากการใช้สิทธิ์ในใบสำคัญแสดงสิทธิ์ในปี 2556 จำนวน 3,602 ล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจาก 56.9% ในปี 2555 เป็น 49.7% ณ สิ้นปี 2556 สภาพคล่องของบริษัทเมื่อวัดจากอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายปรับเพิ่มขึ้นจาก 6.1 เท่าในปี 2555 มาอยู่ที่ 7.7 เท่าในปี 2556 อัตราส่วนกระแสเงินสดจากการดำเนินงานต่อหนี้สินอยู่ที่ 25.0% ในปี 2556 ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2555 ที่ 21.2%
ในอนาคต ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงกลยุทธ์การเติบโตเชิงรุก บริษัทมีแผนการลงทุนประมาณ 23,000 ล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้เงินทุนภายในมาสนับสนุนการลงทุนบางส่วน อย่างไรก็ดี การลงทุนบางส่วนยังคงต้องมีการก่อหนี้จำนวนมากด้วย ดังนั้น คาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ระดับประมาณ 50% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า