นายอัยยณัฐ เปิดเผยว่า ผู้เข้าร่วมสัมมนาส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการ ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตุในเรื่องผลกระทบต่อโบราณสถาน และต้องการให้กำหนดแนวเส้นทางและพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบและแนวทางแก้ไขที่ชัดเจน รวมถึงกำหนดทางขึ้นลงเข้าสู่ชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวที่สะดวก ซึ่งกทพ.พร้อมรับทุกความเห็นนำไปศึกษาและปรับให้มีความเหมาะสม โดยจะใช้ระยะเวลาศีกษาความเหมาะสมรวม 15 เดือน (1 พ.ย.56-31 ม.ค.58) ซึ่งจะมีการรับฟังความเห็นอีก 2 ครั้ง
ทั้งนี้ เบื้องต้นคาดว่าจะใช้วงเงินลงทุนประมาณ 50,000 ล้านบาท โดยมีค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินประมาณ 20% ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้นจะต้องรอผลการศึกษา รวมถึงขึ้นอยู่กับนโยบายของกระทรวงคมนาคมและรัฐบาลด้วย ซึ่งในส่วนของกทพ.นั้นมีความพร้อมที่จะลงทุนได้ในหลายรูปแบบทั้ง การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP) , ลงทุนแบบ BTO (Build-Transfer-Operate) คือ ให้เอกชนหาเงินลงทุนก่อสร้างเสร็จแล้วต้องโอนเป็นของรัฐเมื่อสร้างเสร็จโดยรัฐใช้คืนภายหลัง, ลงทุนแบบเทิรนคีย์ (จ้างเหมาเบ็ดเสร็จ) ด้วยการจ้างเอกชนก่อสร้างก่อนแล้วภาครัฐผ่อนชำระคืนภายหลังพร้อมดอกเบี้ย) ,กทพ.ลงทุนเองโดยกู้เงินมาก่อสร้างโครงการ ซึ่งการตัดสินใจเลือกรูปแบบจะขึ้นกับสถานการณ์ในขณะนั้นด้วย
"ทางด่วนสายนี้จะเป็นโครงข่ายเชื่อมด้านเหนือของกรุงเทพฯ ซึ่งขณะนี้กทพ.กำลังศึกษาทางด่วนลงด้านใต้ เชื่อมจากดาวคะนอง-พระราม2 และด้านตะวันออกคือ ต่อจากทางด่วนบูรพาวิถีไปพัทยา ซึ่งจะเชื่อมเข้าท่าเรือแหลมฉบัง(ทลฉ.) ด้วย ดังนั้นหากโครงข่ายเชื่อมต่อกันทั้งหมดจะทำให้การขนส่งสินค้าจาก ทลฉ.ไปยังนิคมอุตสาหกรรมที่อยุธยามีความสะดวกมากขึ้นและจะทำให้อยุธยาเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคม ทั้งทางบก ทางรางและทางน้ำอย่างสมบูรณ์"นายอัยยณัฐกล่าว
โดยปัจจุบันปริมาณการเดินทางและขนส่งสินค้าระหว่างกรุงเทพฯ และ อยุธยา มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และเกิดความแออัดเนื่องจากการขยายตัวของที่อยู่อาศัยและการใช้พื้นที่เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งใช้ทางหลวงหมายเลข 32 เป็นเส้นทางหลัก ดังนั้นกทพ.จึงวางแผนต่อขยายโครงการทางพิเศษอุดรรัถยาไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 32 บริเวณ อำเภอบางปะหัน เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางที่รวดเร็วขึ้นรวมถึงมีทางเชื่อมต่อไปยังศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ระยะทางรวมประมาณ 35 กม. และได้ผนวกการศีกษาปรับปรุงทางพิเศษอุดรรัถยา ช่วงบางพูน-บางไทร ระยะทาง 16 กม.จากที่เป็นทางพิเศษระดับดิน เป็นทางพิเศษยกระดับ เพื่อแก้ปัญหาจราจรหากเกิดอุทกภัยเหมือนปี 2554 ที่ผ่านมา
ในการศึกษาแบ่งเป็น 2 ช่วง โดยช่วงที่1 ต่อขยายจากทางพิเศษอุดรรัถยา - ทางหลวงหมายเลข 357 บริเวณศูนย์ศิลปะชีพเกาะเกิด มี2 ทางเลือก คือ 1.เริ่มต้นจากบริเวณถนนกาญจนาภิเษก มุ่งหน้าไปทางตะวันออกเฉียงเหนือบรรจบทางหลวงหมายเลข 357 บริเวณศูนย์ศิลปะชีพเกาะเกิด รวมระยะทางประมาณ 8.710 กม. 2.เริ่มต้นเริ่มต้นจากบริเวณถนนกาญจนาภิเษก มุ่งหน้าไปทางตะวันตกเฉียงเหนือและที่ กม.3+389.260 จะก่อสร้างทางพิเศษไปเชื่อมต่อกับศูนย์ศิลปาชีพบางไทร หลังจากนั้นข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาและบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 347 บริเวณศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด รวมระยะทางประมาณ 8.840 กม.
ช่วงที่ 2 ต่อจากช่วงที่1- ทางหลวงหมายเลข 32 ที่อำเภอบางปะหัน มี 3 ทางเลือก คือ 1. ต่อเชื่อมจากศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิดก่อสร้างไปตามแนวเขตทางหลวงหมายเลข 347 และก่อนถึงทางแยกต่างระดับบางปะหันประมาณ 2 กม.จะเบี่ยงแนวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือและสิ้นสุดโครงการที่จุดเชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข 32 ที่อำเภอทบางปะหัน 2. ต่อเชื่อมจากศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิดมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือและวางแนวขนานด้านซ้ายของทางหลวงหมายเลข 347 และเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 3263 และหมายเลข3412 และสิ้นสุดที่ทางหลวงหมายเลข 32 ที่อำเภอบางปะหัน รวมระยะทางประมาณ 30 กม. และ 3. ต่อเชื่อมจากศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด โดยแนวสายทางจะขนานไปทางด้านขวาของทางหลวงหมายเลข 347 และเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข356 และ 3469 และ 3263 และ 309 และก่อนถึงทางแยกต่างระดับบางปะหันประมาณ 3 กม.แนวสายทางจะเบี่ยงออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และสิ้นสุดสายทางจุดเชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข 32 ที่อำเภอบางปะหัน รวมระยะทางประมาณ 30 กม.