BANPU สรุปขยายลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน-โซลาร์ฟาร์มปีนี้เน้นสร้างกระแสเงินสด

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 17, 2014 10:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู (BANPU) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าจะสรุปการเจรจาเข้าซื้อกิจการหรือลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อย่างน้อย 1 แห่ง และโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกอย่างน้อย 1 แห่งภายในปีนี้ โดยใช้แหล่งเงินทุนจากเงินกู้ที่มีศักยภาพจะกู้เงินเพิ่มได้อีก 600-700 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายใต้นโยบายรักษาอัตราหนี้สินสุทธิต่อทุน(D/E)ไม่เกิน 1.1 เท่า จากสิ้นปี 56 อยู่ที่ 1.07 เท่า

ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าวอยู่นอกเหนือจากงบลงทุนตามแผนงานเดิมในปีนี้จำนวน 358 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะใช้ในการขยายเหมืองและท่าเรือในอินโดนีเซีย รวมถึงลงทุนในบริษัทโฮลดิ้งในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นเพื่อเน้นการทำธุรกิจเทรดดิ้งถ่านหินมากขึ้น และจ่ายส่วนทุนในโครงการหงสา 85 ล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีกระแสเงินสดกว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีกำไรสะสมค่อนข้างมากที่เพียงพอจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้สม่ำเสมอทุกปี

"เรายังมี Room จากระดับหนี้น่าจะกู้ได้อีก 600-700 ล้านเหรียญฯที่จะใช้ในกิจการไฟฟ้าในช่วง 2-3 ปีนี้"นายชนินท์ กล่าว

นายชนินท์ กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าเพิ่มสินทรัพย์ในธุรกิจไฟฟ้าให้มีสัดส่วนมูลค่ากิจการ(Enterprise Value)ของธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มมาเป็น 35% จากปัจจุบันอยู่ที่ 25% ในช่วง 2-3 ปีนี้หรือภายในปี 59 เพราะบริษัทต้องการเน้นกระแสเงินสดในช่วงที่ราคาถ่านหินยังไม่ฟื้นตัวหรือค่อยๆทยอยฟื้นตัว ขณะเดี่ยวกันของเป็นธุรกิจที่มีผลตอบแทนที่ดี และยอมรับความเสี่ยงได้

ในปีนี้จึงมีแผนเข้าซื้อกิจการหรือเข้าร่วมทุนในกิจการโรงไฟฟ้า ทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน และพลังงานทดแทน โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินที่สนใจเข้าลงทุน ได้แก่ จีน ซึ่งกำลังศึกษาจะขยายการผลิตจากโรงไฟฟ้าเดิมที่ลั่วหนานที่บริษัทมีโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่แล้ว 100 กว่าเมกะวัตต์ โดยบริษัทถือหุ้น 100% ทั้งนี้คาดจะมีกำลังติดตั้ง 300 เมกะวัตต์ขึ้นไป และประเมินว่าจะใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เดินเครื่องอยู่แล้วในฟิลิปปินส์ ที่มี 2 โรงๆละ 400-500 เมกะวัตต์ รวมทั้งการเข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินในเวียดนาม อินโดนีเซีย ซึ่งมีความต้องการสูงจากเศรษฐกิจที่เติบโตสูงและมีประชากรจำนวนมาก

ขณะเดียวกัน บริษัทสนใจจะเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์ฟาร์ม ทั้งในประเทศ รวมไปถึงจีนและญี่ปุ่น โดยในจีนอยู่ระหว่างความชัดเจนค่าไฟฟ้า ซึ่งลงทุนโซลาร์ฟาร์มในจีนใช้เงินไม่มาก และใช้เวลาสร้างเพียง 1 ปีครึ่งก็สามารถเดินเครื่องได้ ประกอบกับแผงโซลาร์ราคาไม่สูง ส่วนในญี่ปุ่น จุดน่าสนใจอยู่ที่ค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับสูงราว 6-7 บาท/ยูนิต ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตร นอกจากนี้ บริษัทยังสนใจเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมด้วย

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BANPU ระบุว่า ในช่วงปี 55-56 เป็นช่วงที่บริษัทตั้งรับกับสถานการณ์ราคาถ่านหินตกต่ำ แต่ในปี 57-59 บริษัทจะเริ่มลงทุนและขยายสัดส่วนพอร์ตสินทรัพย์ให้ดีขึ้น เพื่อบริหารให้บริษัทสามารถแข่งขันและอยู่รอดได้ โดยพยายามเข้าไปลดต้นทุนการผลิตถ่านหินให้ดีขึ้นทั้งในอินโดนีเซียและออสเตรเลีย โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายลดต้นทุนการผลิตลงอีก 5% ในอินโดนีเซีย และ 4%ในออสเตรเลีย จึงคาดว่าในไตรมาส 1/57 การผลิตและการขายจะออกมาค่อนข้างดี

"เราพยายามให้ทุกจุดมีความชัดเจนมากขึ้น จากปีที่แล้วเราเข้าใจและมองว่าใน 2-3 ปีนี้เราจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร เราก็มองภาพ 2-3 ปีว่าเราควรลงทุนอะไรเพิ่มขึ้น นั่นก็คือกิจการไฟฟ้า ที่การลงทุนเราเข้าใจความเสี่ยง จึงคิดว่าระยะสั้นมุ่งไปที่กิจการไฟฟ้าก่อนเพื่อสร้างกระแสเงินสด อาจจะไม่ใช่ปีนี้ หรืออาจจะเข้ามาในปีนี้"นายชนินท์ กล่าว

การดำเนินดังกล่าวเพื่อสร้างกระแสเงินสดให้กับบริษัทในระหว่างรอโรงไฟฟ้าหงสาในสปป.ลาว สร้างเสร็จและเริ่มจ่ายไฟ (COD) ยูนิตแรก 600 เมกะวัตต์ในกลางปี 58 และอีก 2 ยูนิตรวม 1,200 เมกะวัตต์ในไตรมาสแรก และกลางปี 59 โดยจะรับรู้เต็มปีพร้อมกันทั้ง 3 ยูนิตในปี 60

*เพิ่มปริมาณขาย ขณะที่ราคาขายเฉลี่ยปีนี้ใกล้เคียงปีก่อน

นายชนินท์ คาดว่า ในปี 57 บริษัทจะมีปริมาณขายรวม 49.40 ล้านตัน โดยมาจากเหมืองในอินโดนีเซียที่ผลิตได้ 29.40 ล้านตัน ผลิตจากออสเตรเลีย 14.50 ล้านตัน และในจีน 3.20 ล้านตัน รวมทั้งปริมาณเทรดดิ้งอีก 2 ล้านตันจากอินโดนีเซีย 1.2 ล้านตัน และออสเตรเลีย 8 แสนต้น ปริมาณขายเพิ่มขึ้นจากปี 56 ที่มีปริมาณ 46.6 ล้านตัน เป็นการผลิตจากอินโดนีเซีย 29.21 ล้านต้น ออสเตรเลีย 13.59 ล้านตัน และจากจีน 3 ล้านตัน รวมเทรดดิ้ง 8 แสนตัน

ขณะที่คาดว่าราคาขายเฉลี่ยในปีนี้จะใกล้เคียงปีก่อนที่มีราคาขายเฉลี่ย 72.4 เหรียญสหรัฐ/ตัน โดยขายล่วงหน้าไปแล้ว 53% ของถ่านหินในออสเตรเลีย และสัญญาเดิมบางส่วน 13% ได้ปรับราคาขายถ่านหินขึ้นอีก 1 เหรียญสหรัฐ เป็น 55 เหรียญสหรัฐ/ตัน และอีก 20% ยังไม่ได้กำหนดราคาขาย ส่วนเหมืองในอินโดนีเซีย ได้ขายล่วงหน้าไปแล้ว 47% ของเป้าหมาย และมีสัดส่วน 33% ที่ยังไม่ได้กำหนดราคาขาย ทั้งนี้ คาดว่าช่วงครึ่งหลังปี 57 ราคาถ่านหินค่อยๆทยอยปรับตัวขึ้นจากที่ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว เพราะปีนี้ซัพพลายใกล้เคียงดีมานด์ โดยปีนี้คาดมีซัพพลายเพิ่มขึ้น 29 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการเพิ่มขึ้นอีก 30 ล้านตัน

"เราเชื่อว่าราคาผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และเชื่อว่าราคาน่าจะสูงขึ้นในครึ่งปีหลัง น่าจะอยู่ 80 เหรียญสหรัฐ/ตันขึ้นไป จากปัจจุบันราคาอยู่ที่ 74 เหรียญสหรัฐ/ตัน "ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BANPU กล่าว

ส่วนธุรกิจเทรดดิ้งจะใช้ฐานที่ประเทศสิงคโปร์ในการสร้างราคาถ่านหินให้ดีขึ้น และในระยะยาวบริษัทจะลงทุนสร้างคลังถ่านหินในเอเชียเพิ่มเติม มุ่งเน้นตลาดจีนและอินเดียที่มีความต้องการสูง โดยจะนำถ่านหินระดับพรีเมี่ยมมาผสมเพื่อให้คุณภาพถ่านหินที่จำหน่ายนั้นดีขึ้น

นายชนินท์ คาดว่า ในปีนี้บริษัทจะมีสัดส่วนกำไรจากธุรกิจไฟฟ้าใกล้เคียงปีก่อนที่ระดับ 65% ของกำไรสุทธิ แต่หากได้เข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการอยู่ก็จะสามารถรับรู้กำไรได้ทันที และในปี 58-59 คาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนกำไรของธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มขึ้นชัดเจน

ด้านนางสมฤดี ชัยมงคล ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน BANPU กล่าวว่า รายได้ของบริษัทในปีนี้จะดีขึ้นกว่าปีก่อนเล็กน้อย จากปริมาณขายเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เชื่อว่านักลงทุนสถาบันมองหุ้น BANPUเป็นธุรกิจถ่านหินขึ้นลงตามวัฏจักร ซึ่งตอนนี้นักลงทุนได้ซื้อกลับบ้างแล้ว

นอกจากนี้บริษัทมีแผนจะออกหุ้นกู้สกุลเงินบาท วงเงิน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 6 พันล้านบาท อายุ 5 ปี 7 ปี และ 10 ปี คาดว่าจะออกในช่วงครึ่งหลังปี 57 เพื่อทดแทนหู้นกู้เดิมที่ครบกำหนดไถ่ถอน นอกจากนี้จะรีไฟแนนซ์หนี้เดิมประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ