นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ BJC คาดว่าภายในสิ้นปีนี้บริษัทสรุปรูปแบบการลงทุนธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านว่าจะจัดตั้งแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา หรือซื้อกิจการแบรนด์อื่น โดยเห็นว่าจังหวัดหัวเมืองยังน่าสนใจ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า
ปัจจุบัน BJC มีจุดกระจายสินค้ากว่า 2 แสนจุดในเวียดนามที่สามารถจะใช้เป็นฐานกระจายสินค้าไทย และจะต้องทำเร็วขึ้นจากแรงกดดันในตลาดเพื่อเร่งสร้างฐานให้ธุรกิจไทย รวมทั้งสร้างฐานตลาดให้กับสินค้าของบริษัทในต่างประเทศ
ขณะที่การลงทุนโรงงานผลิตยานั้น ขณะนี้บริษัทได้ศึกษามาพอสมควร และพร้อมเข้าซื้อกิจการ ซึ่งเท่าที่ศึกษาเข้าซื้อจะดีกว่าจากที่องค์การอาหารและยา (อย.) เปลี่ยนหลักเกณฑ์และมาตรฐานผลิตยาเข้มข้นขึ้น คาดว่าจะทำให้การลงทุนด้วยตัวเองต้องใข้เม็ดเงินมากพอควร นอกจากนี้บริษัทเปิดกว้างให้โรงงานยายื่นข้อเสนอขายกิจการหรือร่วมทุนมาให้ BJC พิจารณาได้ แต่บริษัทมีเงื่อนไขที่จะต้องถือหุ้นเกิน 51% เพื่อผลักดันการบริหารงานให้เป็นไปในแนวทางของบริษัท
นายอัศวิน กล่าวว่า สำหรับแหล่งเงินสำหรับดีลใหม่นั้น บริษัทยังมีความสามารถกู้เงินได้อีกถึง 8-9 พันล้านบาท โดยปัจจุบันบริษัทมีอัตราหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนที่ 0.94 เท่า ทำให้สามารถกู้เงินได้เต็มที่ถึง 1.2 หมื่นล้านบาท ก็จะทำให้อัตราหนี้สินต่อทุนเพิ่มไปที่ 1.75 เท่า โดยระหว่างนี้ยังมีการเจรจาควบรวมกิจการ(M&A) ในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ อุปโภคบริโภค เวชภัณฑ์ ค้าปลีก ทั้งในประเทศเวียดนาม พม่า มาเลเซีย กัมพูชา ลาว และไทย
อนึ่ง บริษัทมีภาระหนี้สินทั้งสิ้น 1.69 หมื่นล้านบาท ต้นทุนการเงินไม่ถึง 4% ขณะที่มีเงินสดในมือ 1.7 พันล้านบาท
นายอัศวิน ระบุว่า บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้ในปีนี้เติบโตมากกว่า 10% แม้ว่ายอดขายในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้อาจไม่ดีนัก แต่ในเดือน มี.ค.57 เห็นสัญญาณกำลังซื้อดีขึ้น และเชื่อว่ายอดขายในไตรมาส 2/57 ก็น่าจะดีขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง เพราะมีเทศกาลสงกรานต์เข้ามาช่วย