แต่ปกติในไตรมาสแรกของปีจะเป็นไตรมาสที่มีความต้องการใช้ปูนสูงสุด และจะต่ำมากในไตรมาส 3 ประกอบกับสถานการณ์การเมืองมีสภาพเช่นปัจจุบัน ก็คาดว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่คงล่าช้า ทำให้ความต้องการใช้ปูนซิเมนต์น้อยลงไปอีกในไตรมาส 2, 3 และ 4 เนื่องจากไม่มีโครงการภาครัฐออกมา และยอดการขอส่งเสริมการลงทุนโรงงานใหม่ก็ลดลง 40% ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา
ดังนั้น SCC จึงคาดว่าทั้งปี 57 ยอดขายของปูนซิเมนต์จะเติบโตประมาณ 2-3% จากเดิมที่คาดโต 9% ส่วนยอดขายสินค้าวัสดุก่อสร้างก็ปรับตัวลงอย่างเห็นได้ชัด โดยในช่วง 2 เดือนแรกยอดขายติดลบ 7-8% และคาดว่าทั้งปีก็คงจะติดลบ 7-8% ตามภาวะอสังหาริมทรัพย์
"ยอดขายปูนทั้งปีคาดว่าไม่น่าติดลบ หรือไม่มี negative growth ซึ่งขึ้นกับรัฐบาลจะตั้งได้เร็วแค่ไหน"นายกานต์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยอดขายปิโตรเคมีที่บริษัทส่งออกในสัดส่วนเกิน 50%ปีนี้ และราคาตลาดโลกอยู่ในระดับที่ดี อีกทั้งเงินบาทอ่อนตัวก็จะช่วยให้รายได้บริษัทมากขึ้น จึงเชื่อมั่นว่ายอดขายรวมในปี 57 ยังจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% จากปีก่อนที่มียอดขายรวม 4.34 หมื่นล้านบาท
สำหรับแผนการลงทุนในช่วง 5 ปีนี้ (57-61) จะใช้งบลงทุน 2.5 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ยลงทุนปีละ 5 หมื่นล้านบาท โดยจะเป็นการลงทุนโครงการเองและการเข้าซื้อกิจการ (M&A) สัดส่วนอย่างละครึ่ง โดยในส่วนการลงทุนเองช่วงกลางปี 58 จะเริ่มเดินเครื่องโรงงานปูนซิเมนต์ในอินโดนีเซีย ขนาดกำลังการผลิต 1.8 ล้านตัน/ปี และโรงงานปูนซิเมนต์ในกัมพูชาแห่งที่ 2 กำลังการผลิต 1 ล้านตัน/ปี
ส่วนโรงงานปูนซิเมนต์ในพม่าที่มีกำลังการผลิต 1.8 ล้านตัน/ปี จะเปิดเดินเครื่องการผลิตได้ในปี 59
รวมทั้งการลงทุนในโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในเวียดนามคาดว่าจะสรุปความชัดเจนเกี่ยวกับเงินกู้ในโครงการนี้ได้ในปลายปีนี้ และจะเริ่มก่อสร้างได้ในปีหน้า ซึ่งจะใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี และจะเริ่มผลิตได้ในปี 62 ทั้งนี้ เดิมตั้งวงเงินลงทุน 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐ อนึ่ง โครงการนี้ SCC ถือหุ้นใหญ่ 46% ปิโตรเคมีเวียดนาม 29% และกาตาร์ อินเตอร์เนชั่นแนล 25%
นายกานต์ กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ในประเทศเวียดนามดีขึ้น สถาบันการเงินเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้นจากเดิมที่เป็นห่วงภาคธนาคารของเวียดนาม หลังจากที่ผ่านมารัฐบาลได้เข้าไปแก้ไขปัญหา และจัดการให้บางส่วนแปรรูป ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น รวมทั้งค่าเงินด่องของเวียดนามนิ่งแล้ว
นอกจากนี้ SCC มองหาการเข้าซื้อกิจการบริษัทที่มีเทคโนโลยีในประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่ ญี่ปุ่น ยุโรป และ สหรัฐ เพื่อให้บริษัทเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเอง คาดว่าปีนี้น่าจะได้ข้อสรุป