สำหรับแผนการออกหุ้นกู้ในปีนี้ บริษัทมีแผนจะเสนอขายเพิ่มอีก 1-2 พันล้านบาทในช่วงปลายปี หลังจากต้นปีออกไปแล้ว 3 พันล้านบาท
นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ CK กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาบริษัทมี Backlog สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 1.12 แสนล้านบาท เป็นงานที่จะสร้างผลตอบแทนได้ดีในช่วงปี 57-59 น่าจะรับรู้รายได้ต่อเนื่องไม่ต่ำกว่าปีละ 3 หมื่นล้านบาท ทำให้บริษัทแทบไม่ได้รับผลกระทบจากการชะลอโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐมูลค่า 2 ล้านล้านบาทที่ต้องสะดุดลงจากสถานการณ์ทางการเมือง
ในทางกลับกัน บริษัทมองว่าเป็นโอกาสทำให้วัสดุก่อสร้างไม่ขาดแคลนและราคาไม่สูง รวมทั้งสถานการณ์แรงงานไม่ตึงตัว ส่งผลให้ต้นทุนงานก่อสร้างของบริษัทไม่สูงมากนัก และยังสามารถทำอัตรากำไรขั้นต้นได้ที่ระดับ 8-10% ตามที่วางเป้าหมายไว้ได้ดี อย่างไรก็ดี เชื่อว่างานภาครัฐคงจะล่าช้าออกไปประมาณ 1 ปี หรือกรณีเลวร้ายสุด 3 ปี แต่เชื่อว่าภาพรวมงานในประเทศยังเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันกลยุทธ์ของบริษัทที่ไม่ได้มุ่งหางานภาครัฐอย่างเดียว แต่มีการลงทุนของกลุ่มบริษัทเข้ามาเสริม ซึ่งปัจจุบันงานในมือที่มีสัดส่วน 30% เป็นงานจากภาครัฐ แต่ 70% มาจากงานที่บริษัทลงทุนในสัมปทานต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ โครงการฝายน้ำล้นไซยะบุรี ที่มีมูลค่างาน 7.6 หมื่นล้านบาท ทางด่วนศรีรัช เป็นต้น ทำให้บริษัทมีงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องกังวลกับงานภาครัฐมากนัก
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ยังมีโครงการขนาดใหญ่ที่บริษัทจะร่วมประมูล 3 โครงการ รวมมูลค่า 8.6 หมื่นล้านบาท ได้แก่ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 19 กม., โครงการรถไฟทางคู่ คลอง19-แก่งคอย และ โครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2 โดยนายปลิว คาดว่าบริษัทจะได้งานประมาณ 20-25% ของมูลค่างาน และมีความพร้อมเข้าร่วมประมูลทุกงาน
นอกจากนั้น ยังมีงานรอเซ็นสัญญาในปีนี้อีก 21,750 ล้านบาท ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น เฟส 2 มูลค่างาน 4,750 ล้านบาท คาดว่าจะเซ็นสัญญาในไตรมาส 3/57 และโครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำ น้ำบากในสปป.ลาว มูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาท คาดเซ็นสัญญาในปลายปีนี้
"โครงการรัฐบาลส่วนใหญ่เป็นโครงการสาธารณูปโภค อาจจะล่าช้าไป แต่อย่างไรรัฐบาลก็จะทำต่อ ก็เห็นว่าไม่ได้ล่าช้าอะไรมาก และบริษัทในกลุ่มทุกบริษัทก็แข็งแรง มีความพร้อมเสริมกำลังให้กับ CK ได้ทุกบริษัท เมื่อเปิด AEC บริษัทในกลุ่มก็พร้อมเข้าไปลงทุนทั้งงานและเงินลงทุน เราคิดว่าจะ concentrate ในลาวและพม่า"นายปลิว กล่าว
นายปลิว กล่าวว่า บริษัทจะเน้นการรับงานรับเหมาก่อสร้างและการลงทุนในสัมปทานที่ประเทศพม่าและสปป.ลาว ที่เห็นยังมีโอกาสเข้ารับงานได้สูง โดยลาวมีงานสร้างเขื่อนอย่างต่อเนื่อง ส่วนในพม่าเห็นว่าในอนาคตต้องมีการบลงทุนก่อสร้างสาธารณูปโภคอีกมหาศาล ทั้งระบบถนนหนทาง ระบบประปา รวมทั้งการสร้างเขื่อนที่ CK มองเห็นโอกาสอยุ่มาก ขณะที่เวียดนามและกัมพูชา ยังเห็นว่าประเทศที่ห่างจากไทยกว่าและระบบสาธารณูปโภคจำเป็นน้อยกว่าพม่า
"ในพม่ารีบร้อนไม่ได้ ต้องมีกฎหมาย มีระบบธนาคาร ตลาดทุน ตลาดเสรีเกิดขึ้น แต่โอกาสงานมีเยอะ ถ้ารีบก็จะเกิดความเสี่ยง โครงสร้างพื้นฐานไม่ใช่ทำแค่ 3-4 ปี ดังนั้น แนวนโยบายไม่รับร้อนแต่ก็ยังศึกษาติดตามอยู่ "นายปลิว กล่าว
*ออกหุ้นกู้อีก 1-2 พันลบ.ในปลายปีนี้,ศึกษากองทุน IFF
นายวรพจน์ อุชุไพบูลย์วงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบัญชีและการเงิน CK กล่าววา บริษัทมีแผนจะออกหุ้นกุ้อีก 1-2 พันล้านบาทในปลายปีนี้ เพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิม 1 พันล้านบาท และที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน จากเมื่อต้นปีบริษัทได้ออกหุ้นกู้แล้ว 3 พันล้านบาทเพื่อนำไปทดแทนหุ้นกู้เดิม 2 พันล้านบาทและเป็นเงินทุนหมุนเวียน 1 พันล้านบาท
ปัจจุบัน อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน (Net D/E) อยู่ที่ 1.73 เท่า ขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นมาเป็น 1.68 หมื่นล้านบาทจากปีก่อนอยู่ที่ 8.8 พันล้านบาท ดังนั้น บริษัทยังมีความสามารถกู้ได้เต็มที่อีกประมาณ 5 หมื่นล้านบาท หรือ ไม่เกิน 3 เท่าของฐานทุน
นายวรพจน์ กล่าวยอมรับว่า บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (IFF) ทั้งจากการนำราไยด้โครงการทางด่วน ธุรกิจน้ำประปา รถไฟฟ้า หรือ โรงไฟฟ้า แต่เนื่องจากปีนี้บริษัทยังไม่มีความจำเป็นใช้เงินทุนจึงไม่รีบร้อนสรุปเรื่องดังกล่าว
ทั้งนี้ ในส่วนงบลงทุนในปีนี้มีจำนวน 800 ล้านบาทที่นำไปจ่ายส่วนทุนของโครงการไซยะบุรี ซึ่งความก้าวหน้าของงานทำได้ 30% แล้ว ส่วนบริษัทย่อย ได้แก่ บมจ.น้ำประปาไทย (TTW) ก็มีเงินทุนจำนวนมากอยู่แล้ว ก็ยังไม่จำเป็นต้องหาเงินทุนแต่อย่างใด
นายวรพจน์ คาดว่า รายได้จากงานก่อสร้างในไตรมาส 1/57 รับรู้ 8 พันกว่าล้านบาท ใกล้เคียงกับไตรมาส 1/56 ที่มีรายได้ 8,092 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าปีนี้จะรับรู้รายได้จากโครงการไซยะบุรีประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท