“ทางบริษัทฯ มีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือของทั้งสองบริษัทฯ ในครั้งนี้ จะสามารถนำความรู้และแนวคิดของกลุ่มผู้นำด้านสินเชื่อขนาดใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น มาใช้ในการพัฒนารูปแบบการให้บริการ และสร้างเครือข่ายเพื่อรองรับการขยายธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ให้กับบริษัทฯ รวมถึงตลาดสินเชื่อรถยนต์มือสองในประเทศไทยได้เป็นอย่างดีซึ่งสอดคล้องกับแผนของบริษัทฯ ที่วางไว้ในการพัฒนาธุรกิจด้านสินเชื่อรถยนต์และธุรกิจใหม่ๆ ให้สามารถรองรับการขยายธุรกิจทั้งในประเทศไทยและตลาดต่างประเทศได้ด้วย รวมถึงเป็นการทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น" นายดนุชา กล่าว
PFS เป็นกลุ่มธุรกิจที่ให้บริการด้านสินเชื่อรถยนต์และการรับประกันชิ้นส่วนรถยนต์มือสองโดยผ่านเครือข่ายตัวแทนจำหน่าย 23,000 รายทั่วประเทศญี่ปุ่น ในเดือนมีนาคม 2556 ผู้ถือหุ้นของ PFS คือกองทุนเพื่อการลงทุน บริหารจัดการโดยบริษัทย่อยที่ Marubeni Corporation ซึ่งเป็นบริษัท Trading หลักของโลกถือหุ้นเต็มจำนวน ทั้งนี้ PFS ยึดถือนโยบายที่จะขยายธุรกิจเช่าซื้อไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงและมีบทบาททางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น การร่วมมือในครั้งนี้ก็เพื่อเป็นผู้นำในการขยายธุรกิจไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยอาศัยความรู้ความชำนาญในการให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในประเทศไทย
สำหรับความร่วมมือกับ PFS ผู้นำธุรกิจด้านสินเชื่อรถยนต์ญึ่ปุ่นครั้งนี้เป็นการเซ็นสัญญาเบื้องต้น 6 เดือน แต่ไม่ได้เข้ามาถือหุ้น ซึ่งมั่นใจว่าจะทำให้ธุรกิจโตทั้งในและต่างประเทศอย่างมั่นคง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาการปล่อยสินเชื่อรถยนต์มือสองในประเทศเพื่อนบ้านรองรับ AEC
นายดนุชา กล่าวต่อว่า ในปี 57 บริษัทตั้งเป้ารายได้และกำไรเติบโต 22-25% จากปีก่อน โดยตั้งเป้าสินเชื่อใหม่เติบโต 30% เป็น 1,200 ล้านบาท จากปีก่อนยอดสินเชื่อใหม่อยู่ที่ 700 ล้านบาท และตั้งเป้ายอดสินเชื่อคงค้างในระบบ (Outstanding Loan) สิ้นปี 57 เพิ่มขึ้นเป็น 2,500 ล้านบาท จากสิ้นปี 56 ที่ 2,000 ล้านบาท
สำหรับการปล่อยสินเชื่อใหม่ในช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ เติบโต 30% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยปกติบริษัทจะปล่อยสินเชื่อใหม่เดือนละ 100 ล้านบาท
ขณะที่คาดว่า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 3-3.5% จากสิ้นปี 56 ที่อยู่ที่ 2.7-3% โดยปัจจุบันอยู่ที่ 3% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสื้นปี 56 ซึ่งก็ยังเป็นระดับที่รับได้อยู่
"ส่วนการเพิ่มทุนตอนนี้ยังไม่จำเป็น แต่ในอนาคตไม่แน่ เพราะบริษัทต้องโตจากฐานเงินทุนแต่ปัจจุบัน DE ต่ำมากอยู่ที่ 1.6 เท่า"
ทั้งนี้ หากอัตราดอกเบี้ยของตลาดยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำก็จะทำให้ต้นทุนการเงินถูก จะส่งผลดีต่อบริษัทที่จะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย(NIM) ขยับสูงขึ้น จากปีก่อนที่ 5% ซึ่งบริษัทกู้ธนาคารมาปล่อยสินเชื่อ จะทำให้มาร์จินของบริษัทดีขึ้น
ด้านนายโยฮิชิ ชิบาตะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PFS กล่าวว่า ไม่กังวลต่อสถานการณ์การเมืองในไทย การเมืองไม่ดีไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจจะไม่ดีด้วย โดยมองว่าอนาคตตลาดรถยนต์มือสองในไทยจะเติบโตอย่างมาก และในญี่ปุ่นก็กำลังจะเติบโตขึ้นมากด้วยจึงเข้ามาเป็นพันธมิตรกับ ECL เนื่องจาก ECL มีจุดเด่นที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ธนาคารพาณิช (Non-bank) โดยเข้าเป็นพันมิตร 6 เดือนก่อนเป็นที่ปรึกษาวางกลยุทธ์การตลาด จัดตลาดใหม่ ยกระดับสินค้า