รวมทั้งการจัดหา LNG จากต่างประเทศ เพื่อรองรับความต้องการใช้ภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือเป็นการสร้างความมั่นคงในด้านแหล่งพลังงานสำรองของประเทศในระยะยาว
ในงานนี้ทาง กลุ่ม ปตท. ยังจัดแสดงบูธนิทรรศการภายใต้แนวคิด “Technology and Green Company" เพื่อแสดงถึงวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจที่ดียิ่งขึ้นด้วยการมุ่งเน้นและมีความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ที่สามารถลดผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ทั้งสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยมีบริษัทพลังงานชั้นนำจากทั่วโลกกว่า 300 แห่งที่มาร่วมแสดงนิทรรศการและเจรจาธุรกิจในครั้งนี้
สถานการณ์ในปัจจุบัน ปริมาณสำรองพลังงานของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การจัดหาแหล่งก๊าซฯ ใหม่ๆ ในประเทศทำได้ยากขึ้น และการนำเข้าก๊าซจากประเทศเพื่อนบ้าน มีข้อจำกัดมากขึ้น ซึ่งสวนทางกับความต้องการใช้พลังงานที่สูงขึ้นทุกวัน ทั้งในภาคไฟฟ้า อุตสาหกรรม และขนส่ง โดยเฉพาะแผนการผลิตไฟฟ้าในช่วงปี 2555-2557 (แผน PDP ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3) ระบุให้มีการปรับลดขนาดโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ และเพิ่มการผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติทดแทน ส่งผลให้ก๊าซ LNG กลายเป็นพลังงานทางเลือกที่สำคัญของไทยและจะมีความสำคัญสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต
ด้วยเหตุนี้ กลุ่ม ปตท. จึงได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการจัดหาและนำเข้า LNG ที่จะเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การทำสัญญาซื้อขายก๊าซ LNG ระยะยาว 20 ปี ปริมาณ 2 ล้านตันต่อปีกับบริษัท กาตาร์ ลิคิวไฟด์ แก๊สคอมพานี (กาตาร์แก๊ส) การก่อสร้างสถานีรับ-จ่ายก๊าซ LNG ระยะที่ 2 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซจาก 5 ล้านตันเป็น 10 ล้านตันต่อปี การศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนสร้างเรือผลิต LNG (Floating LNG) และการร่วมทุนในโครงการผลิตและสำรวจปิโตรเลียมใน 12 ประเทศ เป็นต้น
"การเข้าร่วมงาน GASTECH 2014 ถือเป็นเวทีประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งเชิงพาณิชย์และเทคโนโลยี ที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยได้ โดย กลุ่ม ปตท. ถือเป็นตัวแทนของกลุ่มบริษัทพลังงานที่มีศักยภาพทางการแข่งขันในเวทีระดับโลก ที่พร้อมจะแสวงหาความร่วมมือของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติทั่วโลก ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของกลุ่ม ปตท. ที่จะได้นำข้อมูลต่างๆ มาใช้ประโยชน์ในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศต่อไป"นายไพรินทร์ กล่าว