ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม 393,400 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 24, 2014 16:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (17 - 21 มีนาคม 2557) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ในสัปดาห์นี้ มีมูลค่ารวม 393,400 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 78,680 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 13% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 60% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 235,330 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 117,569 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 6,915 ล้านบาท หรือคิดเป็น 30% และ 2% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB196A (อายุ 5.2 ปี) LB236A (อายุ 9.2 ปี) และ LB176A (อายุ 3.2 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 30,506 ล้านบาท 23,748 ล้านบาท และ 22,859 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB14410A (อายุ 20 วัน) CB14619B (อายุ 91 วัน) และ CB14410C (อายุ 20 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 22,453 ล้านบาท 22,344 ล้านบาท และ 11,201 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) รุ่น TOP243A (AA-) มูลค่าการซื้อขาย 605 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด รุ่น TLT146A (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 481 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) รุ่น TUF147A (AA-) มูลค่าการซื้อขาย 385 ล้านบาท

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ในตราสารหนี้อายุน้อยกว่า 3 ปี ลดลงเล็กน้อย ประมาณ -1 Basis Point (100 Basis Point มีค่าเท่ากับ 1%) ขณะที่ผลตอบแทนของตราสารหนี้อายุมากกว่า 3 ปี เพิ่มขึ้นในช่วงประมาณ +2 ถึง +11 Basis Point ตามการไหลออกของเม็ดเงินต่างชาติ ภายหลังคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) มีมติให้ปรับลดขนาดของมาตรการ QE ลงอีก 1 หมื่นล้านเหรียญ USD โดยจะเริ่มมีผลในเดือนเมษายนนี้ พร้อมกันนี้ยังส่งสัญญาณว่าอาจจะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้น หลังจากยุติการใช้มาตรการ QE ไปแล้วประมาณ 6 เดือน และตลาดคาดว่าน่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงต้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ซึ่งถือว่าเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในช่วงก่อนหน้านี้ ผลการประชุมดังกล่าวส่งผลให้ Yield ของพันธบัตรสหรัฐฯ (US Treasury) ปรับเพิ่มสูงขึ้นตลอดทั้งเส้น โดยเฉพาะในตราสารระยะยาวที่เพิ่มขึ้นกว่า 15 Basis Point และมีผลทำให้ Yield ของตราสารหนี้ระยะยาวของไทยปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้แล้ว การปรับลดตัวเลขคาดการณ์ GDP สำหรับปี 2557 ของ ธปท. จากเดิมที่ 3.0% เหลือ 2.7% จากปัจจัยภายในประเทศที่ยังคงเปราะบาง สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของภาพเศรษฐกิจโดยรวม เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการไหลออกของเงินทุนต่างชาติจากตราสารหนี้ระยะยาว และมีส่วนทำให้ Yield ของตราสารกลุ่มนี้ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา (ราคาลดลง)

ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติมียอด ซื้อสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกัน 167 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 4,837 ล้านบาท และ ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี) 5,004 ล้านบาท ทางด้านนักลงทุนรายย่อยมียอดซื้อสุทธิ 29 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ