สำหรับงบลงทุนในปีนี้ ตั้งไว้จำนวน 7.5-7.6 พันล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนก่อสร้างโครงการทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ , ลงทุนก่อสร้างโครงการทางด่วนเส้นทางอโศก 3-1 และ ลงทุนในส่วนทุนของโครงการฝายน้ำล้นไซยะบุรี ในสปป.ลาว รวมทั้งเตรียมออกหุ้นกู้ จำนวน 4 พันล้านบาท ในเดือน ก.ค.57 และอีก 800 ล้านบาทในปลายปีนี้ ส่วนใหญ่ใช้การลงทุนของบริษัท
นางสุทธิดา สุขะนินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน BECL เปิดเผยว่า บริษัทคาดปริมาณการใช้ทางด่วนเฉลี่ยปีนี้จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนที่มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 1.1 ล้านคันต่อวัน ขณะที่รายได้ปีนี้จะเติบโตได้ 4% จากปี 56 มีรายได้อยู่ที่ 11,314 ล้านบาท จากการปรับเพิ่มราคาค่าทางด่วนอีก 5 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.56 ซึ่งจะมีการรับรู้รายได้เข้ามาเต็มปี
ขณะเดียวกันบริษัทฯมองว่ากำไรจะเติบโตมากกว่ารายได้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 4% ในปีนี้ จากปีก่อนมีกำไรจากการดำเนินงานปกติอยู่ที่ 1,184 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทปรับมาตรฐานทางบัญชีใหม่ส่งผลให้การบันทึกค่าใช้จ่ายปรับลดลงประมาณ 500 ล้านบาท และจะมีกำไรจากการปรับมาตรฐานทางบัญชีประมาณ 400 ล้านบาท รวมถึงมีการควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น
"ในไตรมาสแรกเรามองว่าปริมาณการใช้ทางด่วนมันยังติดลบอยู่ โดยในเดือนม.ค.-ติดลบไป 5.9% ก.พ.ลบไป 2.6% จากปัญหาทางการเมืองส่งผลกระทบ โดยมองว่าในช่วงครึ่งปีหลังปริมาณการใช้ทางด่วนจะกลับสู่ภาวะปกติได้"นางสุทธิดา กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทเตรียมออกหุ้นกู้จำนวน 4 พันล้านบาทในช่วงเดือน ก.ค.57 และปลายปีนี้จะออกอีกจำนวน 800 ล้านบาท โดยจะใช้ในการลงทุนโครงการทางด่วนพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันออก และใช้รีไฟแนนท์หุ้นกู้เดิมที่จะครบกำหนดไถ่ถอนจำนวน 2,800 ล้านบาท หลังจากเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมาบริษัทได้ออกหุ้นกู้ไปแล้ว 4 พันล้านบาท แบ่งออกเป็น 2 ชุด ชุดที่ 1 อายุ 3 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 60 วงเงินไม่เกิน 3 พันล้านบาท กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.59% ต่อปี และชุดที่ 2 อายุ 5 ปี มูลค่าไม่เกิน 1 พันล้านบาท กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 4.35% ต่อปี
นางสุทธิดา กล่าวว่า บริษัทตั้งงบการลงทุนในปีนี้ไว้ 7.5-7.6 พันล้านบาท โดยจะใช้ในการลงทุนโครงการทางด่วนพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันออกประมาณ 7,092 ล้านบาท และลงทุนโครงการต่อเชื่อมทางพิเศษศรีรัชกับถนนจตุรทิศช่วง ค.(อโศก3) คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงเดือนพ.ค.นี้ ใช้งบลงทุนจำนวน 170 ล้านบาท ประเมินว่าจะมีปริมาณการใช้ทางด่วนเพิ่มขึ้นมาอีกเฉลี่ย 10,000 คันต่อวัน
รวมถึงลงทุนในโครงการฝายน้ำล้นไซยะบุรี ซึ่งบริษัทฯถือหุ้นอยู่ 7.5% จะใช้เงินลงทุนจำนวน 200-300 ล้านบาท ขณะที่โครงการปรับปรุงทางขึ้นลงทางพิเศษเฉลิมมหานครกับถนนทางรถไฟสายเก่า บริเวณแยกต่างระดับอาจณรงค์ (AN3) ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว คาดว่าจะเปิดให้ใช้บริการได้ในช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย.นี้ ประเมินว่าจะมีปริมาณการใช้ทางด่วนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10,000 คันต่อวัน