ทั้งนี้คาดว่ากระบวนการดำเนินการจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาส 2 หรือไตรมาส 3 ปีนี้ และประเมินว่าบริษัทจะได้รับผลกระทบจากการด้อยค่าของสินทรัพย์แหล่งออยซ์ แซนด์ เคเคดี ไม่น่าเกินมูลค่า 100 ล้านเหรียญ
แม้ว่าในการตกลงแลกเปลี่ยนสัดส่วนครั้งนี้ บริษัทจะได้รับเงินสดจำนวน 200 ล้านเหรียญ และเงินสดที่คำนวณจากเงินทุนหมุนเวียนตั้งแต่ 1 ม.ค. 56 จนกระทั่งวันที่สัญญามีผลสมบูรณ์ ประมาณ 240-250 ล้านเหรียญ แล้วก็ตาม
ทั้งนี้ สัญญาจะมีผลสมบูรณ์ตามสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาโอนคืนสิทธิหน่วยลงทุนในห้างหุ้นส่วน (Partnership Units Redemption Agreement : PURA) รวมถึงได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลแคนาดา
นายเทวินทร์ กล่าวว่า การดำเนินการแลกเปลี่ยนสัดส่วนโครงการ KKD เพราะบริษัทเห็นว่าหากยังถือเช่นนี้ต่อไปจะมีการใช้เงินลงทุนสูง ขณะที่มาร์จิ้นต่ำจากการผลิตและขายบิทูมินจากแหล่งนี้ เพราะยังไม่มีการขนส่งผ่านท่อทำให้ต้นทุนสูง บริษัทจึงได้หารือกับ Statoil มากว่า 1 ปี จนได้ข้อตกลงร่วมกันโดยได้ทำการประเมินศักยภาพทั้ง 5 แปลงซึ่งใช้มูลค่าปัจจุบันมาคำนวณหามูลค่า
ทั้งนี้ PTTEP ได้ใสิทธิเป็นเจ้าของ 3 แหล่ง คือ Thornbury, Hangingstone และ South Leismer (THSL) ซึ่งเป็นแหล่งที่ยังไม่ได้มีการผลิต แต่เป็นแหล่งที่มีศักยภาพค่อนข้างมาก แต่ก็จะมีภาระการลงทุนเพิ่มขึ้นต่อไป แม้ว่าในช่วงแผนการลงทุนใน 5 ปีนี้(ปี 57-61) จะลดงบลงทุนจากแหล่งเคเคดีไป 2 พันล้านเหรียญ แต่จะใช้เงินลงทุนใน 3 แหล่งนี้เป็นเท่าไรต้องมาพิจารณากันอีกครั้ง
"KKD ถ้าย้อนกลับไปดูไม่ได้รับผลตอบแทนอย่างที่วางไว้ ถ้าเราจะลงทุนเพิ่มก็จะเป็นภาระจึงแยกสินทร้พย์ ใช้กลยุทธ์หยุดเลือด เรารอจังหวะ ถ้ามี commercial เยอะ เราถึงจะลงทุน" นายเทวินทร์ กล่าว
อย่างไรก็ดี คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะไม่ได้รับรู้รายได้จากแหล่ง KKD แต่คาดว่าภายในเดือนเม.ย.นี้ น่าจะรู้ผลประมูลแหล่งปิโตรเลียม 2 แหล่งของ HESS Corporation คือโครงการไพลิน และโครงการสินภูฮ่อม หากบริษัทได้มาจะช่วยชดเชยปริมาณผลิตและจำหน่ายจากแหล่งออยล์ แซนด์ เคเคดีที่จะหยุดรับรู้รายได้หากการแลกเปลี่ยนสัดส่วนเสร็จสิ้น ซึ่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTEP ให้ความมั่นใจว่าจะชนะการประมูลในครั้งนี้
ก่อนหน้านี้ PTTEP ได้ปรับลดเป้าหมายขายในปี 57 ลงเหลือ 3.24 แสนบาร์เรล/วัน จากเดิมกำหนดไว้ 3.37 แสนบาร์เรล/วัน อย่างไรก็ดี เป้าหมายใหม่ก็ยังเติบโต 11% จากปีก่อนที่มีปริมาณขาย 2.93 แสนบาร์เรล/วัน และคาดว่ารายได้ก็จะเติบโตตามปริมาณขายเช่นกัน
นายเทวินทร์ กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีนี้บริษัทได้ทบทวนปรับเป้าหมายการผลิตจาก 9 แสนบาร์เรล/วัน มาเป็น 6 แสนบาร์เรล/วัน ภายในปี 2563 เพื่อไม่ให้ถูกกดดัน และมีการลงทุนเกินกำลัง ซึ่งจะมีการเพิ่มทุนอย่างมากตามมา รวมทั้งบุคคลากรที่จะไม่เพียงพอ ทั้งนี้จากแหล่งผลิตปัจจุบันบริษัทมีปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วไม่ถึง 7 ปี ขณะที่ตั้งเป้าหมายไว้ 10 ปีก็คงต้องเร่งจัดหา
"การวางเป้าหมายผลิตที่ 6 แสนบาร์เรล/วัน เท่ากับเราต้องเติบโตปีละ 8% เราจะเร่งเพิ่มปริมาณสำรองให้อยู่ในระดับสูงสุด 25%"นายเทวินทร์ กล่าว
ทั้งนี้ ประเมินว่า จากแหล่งผลิตในปัจจุบัน บริษัทคาดว่าจะสามารถผลิตได้ประมาณ 4 แสนบาร์เรล/วัน ส่วนอีก 2 แสนบาร์เรลจะมาจากการซื้อกิจการ ซึ่งจะใช้ความระมัดระวังที่จะเข้าไปลงทุนโครงการที่เสี่ยงน้อยที่สุด ซึ่งเป็นโครงการที่มีปริมาณสำรองพิสูจน์แล้ว รวมทั้งต้องใช้เทคโนโลยีในการสำรวจให้มากขึ้น และหากจะเข้าไปลงทุนแหล่งปิโตรเลียมจะคำนึงถึงผลตอบแทนที่เหมาะสม และต้นุทนน้ำมันที่ประมาณ 80 - 100 เหรียญ/บาร์เรล เพราะเชื่อว่าราคาน้ำมันไม่น่าจะต่ำกว่านี้
ณ วันที่ 31 ธ.ค. 56 บริษัทมีปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วรวมทุกโครงการของ PTTEP คิดเป็น 846 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ