สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB236A (อายุ 9.2 ปี) LB176A (อายุ 3.2 ปี) และ LB196A (อายุ 5.2 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 17,043 ล้านบาท 15,233 ล้านบาท และ 14,327 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB14626B (อายุ 91 วัน) CB14410A (อายุ 13 วัน) และ BOT144A (อายุ 33 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 21,874 ล้านบาท 21,651 ล้านบาท และ 9,119 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) รุ่น IRPC147A (A-) มูลค่าการซื้อขาย 803 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) รุ่น CPALL16OB (A+) มูลค่าการซื้อขาย 623 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) รุ่น LH153A (A) มูลค่าการซื้อขาย 583 ล้านบาท
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ในตราสารหนี้อายุน้อยกว่า 3 ปี เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ประมาณ +1 Basis Point (100 Basis Point มีค่าเท่ากับ 1%) ขณะที่ผลตอบแทนของตราสารหนี้อายุมากกว่า 3 ปี ลดลงในช่วงประมาณ -4 ถึง -10 Basis Point ตามแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันภายในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มของบริษัทประกันฯ หลังจากเศรษฐกิจไทยเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวชัดเจนดังจะเห็นได้จากการปรับลดประมาณการณ์ GDP ปี 2557 จากหลายหน่วยงาน ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีนที่ยังคงอ่อนแอ โดยล่าสุด ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของจีนที่ประกาศออกมา ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้และเป็นการปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อไทยในช่วงต่อจากนี้ได้ จากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังคงเปราะบาง และสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังคงยืดเยื้อและมีความไม่แน่นอนสูง หลังจากมีการนัดชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม กปปส. อีกครั้งในวันที่ 29 มี.ค. ส่งผลให้มีแรงซื้อเข้ามาในสินทรัพย์ปลอดภัยเช่นตลาดพันธบัตรมากขึ้น นอกจากนี้ ผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาล รุ่นอายุ 30 ปี ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนค่อนข้างมาก โดยมีค่า Bid Coverage Ratio (BCR) สูงถึง 2.55 เท่าของวงเงินประมูล ปัจจัยทั้งหมดนี้มีผลทำให้ Yield ของตราสารหนี้ระยะยาวปรับตัวลดลง (ราคาตราสารหนี้เพิ่มสูงขึ้น)
ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติมียอด ซื้อสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกัน 7,588 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 347 ล้านบาท และ ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี) 7,242 ล้านบาท ทางด้านนักลงทุนรายย่อยมียอดขายสุทธิ 251 ล้านบาท