ทั้งนี้ ยืนยันว่าประกาศ Must Have ยังมีผลบังคับใช้อยู่ เว้นแต่เพียงไม่มีผลบังคับใช้กับกรณีการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2014 ที่มี 64 นัด ในครั้งนี้เท่านั้น แต่การถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกในครั้งต่อไปยังคงอยู่ภายใต้ประกาศฯดังกล่าวอยู่
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างระยะเวลาอุทธรณ์ (30 วัน หรือสิ้นสุด 30 เม.ย.) ประกาศฉบับดังกล่าวยังมีผลบังคับใช้อยู่ต่อไป
ในวันนี้ สำนักงานกสทช.จะออกประกาศให้ประชาชนรับทราบทั่วกัน รวมทั้งออกประกาศเตือนผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ผลิต นำเข้า จำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่ายหรือรับติดตั้ง เครื่องรับ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ที่สามารถแปลงสัญญาณในการรับรายการของกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์แบบบิกรับสมาชิก จะต้องไม่เผยแพร่ขิ้อมูลหรือโฆษณาอันมีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการรับชมรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2014 ในครั้งนี้จนกว่ากระบวนการทางกฎหมายจะเป็นที่ยุติ
ด้านพ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.). กล่าวว่า ถ้าการออกโฆษณาไม่ใช่ข้อเท็จจริง หรือทำให้เข้าใจผิดก็เข้าข่ายผิดกฎ มีโทษตั้งแต่ ตักเตือน ปรับ และพักใบอนุญาต
"ดังนั้น อาร์เอส ขายได้ แต่ไม่ใช่โฆษณาว่า ซื้อกล่องนี้ถึงจะดูฟุตบอลโลกได้ เพราะคดียังไม่ถึงที่สุด และจะเกิดความเสียหายวงกว้าง"พ.อ.นที กล่าว
ส่วนการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดนั้น พ.อ.นที กล่าวว่า กสทช.จะอุทธรณ์ประเด็นเดียวที่กสทช.เห็นว่า การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมีความสำคัญที่ประชาชนมีสิทธิพื้นฐานจะรับชมผ่านฟรีทีวี ที่อดีตตั้งแต่ปี 2513 ก็รับชมได้ และอาร์เอสก็เคยซื้อลิขสิทธิ์การแข่งขันฟุตบอลโลก เมื่อปี 48 และถ่ายทอดผ่านฟรีทีวีด้วย
ขณะที่การหารายได้ก็ยังทำได้แม้ว่าจะถ่ายทอดผ่านฟรีทีวี และ กสทช.ก็มีแนวทางเยียวยาให้ผู้ประกอบการ และตามหลักสากล ซึ่งศาลสูงสุดของสหภาพยุโรป ก็ได้มีคำตัดสินเป็นบรรทัดฐานว่า การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่มี 64 นัด เป็น Single Event ไม่สามารถตัดแบ่งเป็น 22 นัด 32 นัด ได้
"เราคิดว่าเป็นสิทธิที่คนไทยได้รับชม อดีตเป็นอย่างไร อนาคตก็ต้องเป็นอย่างนั้น ทำไมต้องเป็นฟุตบอลโลก 2014 เราโต้แย้งเพราะเป็นสิทธิที่ควรได้รับต่อไป" พ.อ.นที กล่าว