ททบ.5 ทุ่ม 2 พันลบ.ลงทุนโครงข่ายทีวีดิจิตอล คาดคืนทุนใน 8-9 ปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 2, 2014 15:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.บุญญฤทธิ์ วิสมล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและแผน สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 (ททบ.5) กล่าวว่า ททบ.5 ประกาศความพร้อมในการออกอากาศทีวีระบบดิจิตอล ทั้งการให้บริการโครงข่ายของ โดย ททบ.มีการให้บริการโครงข่าย(MUX) จำนวน 2 โครงข่าย รวม 14 ช่อง มีทั้งกลุ่มรายการวาไรตี้ประเภท HD, SD และกลุ่มรายการข่าวและรายการเด็ก

บริษัทใช้เงินลงทุนโครงข่ายทั้งสถานีหลักและสถานีย่อย 2 พันล้านบาทภายในเวลา 4 ปี และคาดว่ากว่าจะคืนทุนได้ใช้เวลา 8-9 ปี

สำหรับปีแรกหรือภายในปีนี้คาดว่ารายได้ยังเข้ามาไม่มาก เพราะค่าเช่าเก็บตามการครอบคลุมพื้นที่ แต่ททบ.5 จะติดตั้งได้เสร็จเร็วกว่าคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)กำหนดต้องขยายโครงข่ายกระจายไปถึง 95% ในปีที่ 4 แต่ ททบ.5 จะทำได้ภายในปีที่ 3 และมีความเสถียร ดังนั้นคาดว่าจะมีรายได้จากการให้บริการโครงข่ายประมาณปีละ 800 ล้านบาทเมื่อขยายโครงข่ายครบ "ปีแรกคือปี 57 ททบ.จะให้บริการได้มากกว่ากรอบที่กสทช.กำหนด คือ ร้อยละ 50 ของครัวเรือนประชากร ขณะที่แผนการให้บริการของ ททบ.5 จะทำได้ถึงร้อยละ 67 ในปี 57 ซึ่งครอบคลุมจังหวัดใหญ่ ได้แก่ กรุงเทพและปริมณฑล เชียงใหม่ นครราชสีมา สงขลา สุราษฏร์ธานี และสิงห์บุรี" พล.ต.บุญญทธิ์ กล่าว

ส่วนในปี 58 จะขยายโครงข่ายติดตั้งสถานี High Power อีก 19 แห่ง และสถานี Low Power ในพื้นที่ต่างๆเพิ่มเติมอีก 60 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 90 มากกว่ากรอบ กสทช.กำหนดร้อยละ 80 และในปี 59 จะติดตั้งสถานี Low Power เพิ่มอีก 46 แห่ง พร้อมตรวจสอบความสมบูรณ์ของโครงข่ายซึ่งครอบคลุมพื้นที่ถึงร้อยละ 97 มากกว่ากรอบ กสทช.กำหนดไว้ร้อยละ 95 และเสร็จก่อนกำหนด กสทช. 1 ปี

ส่วนการดำเนินสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกที่ย้ายไประบบดิจิตอล เป็นช่องทีวีสาธารณะ จะนำคอนเท้นท์ของช่องเดิม และจะผลิตเองครึ่งหนึ่งอีกครึ่งหนึ่งร่วมกับผู้ผลิตอื่น คาดว่าจะออกอากาศในวันที่ 24 เม.ย.นี้ โดยผังรายการแบ่งเป็นรายการข่าว 30% ซึ่งททบ.5 จะเป็นผู้ผลิตเอง ส่วนรายการบันเทิง 30% และรายการสาระและความรู้ 40% ก็นำพันธมิตรที่เคยออกอากาศมาร่วมทำช่องรายการ

ขณะเดียวกัน เมื่อมีช่องรายการทีวีดิจิตอล 24 ช่อง ทำให้หลายรายการย้ายช่องจากททบ.5 ไป คาดว่าจะกระทบรายได้ของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกลดลง 30% จากที่มีรายได้ประมาณปีละ 1,800 ล้านบาท อย่างไรก็ดี คาดว่าในอีก 4 ปีจะปรับสัดส่วนรายได้จากสถานีวิทยุโทรทัศน์ เป็น 60% จากเดิม 100% และอีก 40% จะมาจากรายได้การให้บริการโครงข่าย

พ.อ.ยศพล มีพรหม ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค กล่าวว่า ศักยภาพโครงข่ายสถานีวิทยุโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอลของ ททบ.5 ทั้ง 2 โครงข่าย นอกจากความโดดเด่นในการเป็นผู้นำทดลองออกอากาศตามแผนงาน กสทช. เป็นรายแรกเมื่อ 25 ม.ค.56 แล้ว ททบ.ยังได้มีการวางระบบส่งสัญญาณในการออกอากาศเป็น 2 ระบบคู่ขนานกันทั้ง Fiber Obtic และ Sattlelite เพื่อความมั่นคงในการออกอากาศในสภาวการณ์ต่างๆ จึงสร้างความเชื่อมั่นในกลุ่มผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ที่ใช้บริการโครงข่ายว่าจะได้มีคุณภาพสัญญาณภาพและเสียงสม่ำเสมอ ปราศจากความขัดข้องใดๆด้วยระบบสำรองที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล

สำหรับผู้ใช้บริการโครงข่าย ททบ.5 ทั้ง 2 โครงข่ายประกอบด้วย โครงข่ายหมายเลข 2 ได้แก่ ประเภทความคมชัดสูง (HD) ช่อง 5 หมายเลข 1, ช่อง 7 หมายเลข 35, แกรมมี่ HD หมายเลข 31 ประเภทความคมชัดปกติ(SD) ได้แก่ ทรู หมายเลข 24 , TNN หมายเลข 16 และเวิร์คพอยท์ หมายเลข 23 ส่วนโครงข่ายหมายเลข 5 ได้แก่ ประเภทความคมชัดสูง (HD) PPTV หมายเลข 36 และ อัมรินทร์ทีวี หมายเลข 34 ประเภทความคมชัดปกติ(SD) แกรมมี่ SD ช่อง 25, โมโน ช่อง 29, เนชั่น(วาไรตี้) หมายเลข 26, 3A มาร์เก็ตติ้ง หมายเลข 20, เดลินิวส์ หมายเลข 18 และ เนชั่น (ข่าว) หมายเลข 22 ทั้งหมดนี้จะแพร่ภาพได้ครบในเดือนมิ.ย.นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ