ทั้งนี้บริษัทฯจะเสนอปรับปรุงโรงกลั่น Thanllyin ที่ตั้งอยู่ในย่างกุ้งเป็นโรงกลั่นขนาด 2 หมื่นบาร์เรล/ รวมทั้งเสนอสร้างโรงกลั่นใหม่ขนาด 1.5แสนบาร์เรล/วันในพื้นที่เดิม ซึ่งเห็นว่าเป็นระดับที่เหมาะสมกับความต้องการใช้น้ำมันในพม่า จากปัจจุบันที่มีการใช้น้ำมันอยู่ 7 หมื่นบาร์เรล/วัน โดยโครงการดังกล่าวจะเป็นการร่วมทุนกับหน่วยงานภาครัฐของพม่า
"เขา(พม่า)ได้เอาข้อมูลที่เราเสนอไปออกกติกาเพื่อความชัดเจนและเขาก็จะให้ยื่นข้อเสนอ ครั้งนี้คิดว่าประกาศผลภายในปีนี้ ไทยออยล์จะเสนอให้พม่า 1-2 เดือนนี้" นายวีรศักดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดว่าจะมีผู้ประกอบการในภูมิภาคเอเชียเข้าร่วมยื่นข้อเสนอด้วย แต่ที่ผ่านมา รมว.พลังงานของพม่าได้เดินทางมาเยี่ยมชมโรงกลั่นของไทยออยล์มาแล้ว
ส่วนโครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ Wax ที่จะร่วมทุนกับเปอร์ตามินา ประเทศอินโดนีเซีย จากการศึกษาเบื้องต้นซึ่งพบว่ามีผลตอบแทนที่ดีและเตรียมลงรายละเอียดด้านวิศวกรรมคาดว่าได้ข้อสรุปในปีนี้ หลังจากนั้นจะดำเนินการก่อสร้างอีก 2 ปีนับเป็นโครงแรกของไทยออยล์ในอินโดนีเซีย หลังจากนั้นก็จะมองหาโอกาสการลงทุนเพิ่มเติมในอินโดนีเซีย เพราะปัจจุบันอินโดนีเซียมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจำนวนมาก
นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทฯมองหาโอกาสที่จะขยายการลงทุนในต่างประเทศ โดยบริษัทได้กลั่นกรองโอกาสการลงทุนพบว่ามี 3 ประเทศที่น่าสนใจและบริษัทสามารถแข่งขันได้ คือ อินโดนีเซีย เวียดนามและพม่า เนื่องจากประเทศดังกล่าวยังต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศ
สำหรับเงินลงทุนใน 5 ปีนี้บริษัทจะใช้เงินลงทุน 3.4 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนโครงการต่อเนื่อง โดยปีนี้จะดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของหน่วยกลั่นน้ำมันดิบที่ 3 ( CDU-3) ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานของหน่วยกลั่นน้ำมัน โดยติดตั้งอุปกรณ์ แลกเปลี่ยนความร้อนเพิ่มเติม ทำให้สามารถลดการใช้เชื้อเพลิงได้ถึง 15% หรือคิดเป็น 596 ล้านบาท/ปี โดยโครงการนี้จะแล้วเสร็จในไตรมาส 3 ปีนี้ หลังจากมีการปิดซ่อมบำรุงหน่วยกลั่นน้ำมันดิบที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.นี้เป็นเวลา 55 วัน ทำให้กำลังการกลั่นหายไป 1.65 แสนบาร์เรล/วัน
ส่วนโครงการปรับปรุงหน่วยกลั่นสุญญากาศที่ 2 (HVU-2) จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกลั่นแยก ทำให้ลดปริมาณน้ำมันเตาจาก 9%เหลือ 7%แต่เพิ่มปริมาณน้ำมันดีเซลที่มีมูลค่าสูงกว่าได้อีกด้วย คิดเป็นมูลค่า 530 ล้านบาท
ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นอนุมัติวงเงินในการออกและเสนอขายหุ้นกู้ให้แก่นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศวงเงินรวมไม่เกิน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเมื่อรวมกับวงเงินที่เคยได้รับอนุมัติก่อนหน้านี้ที่เหลืออยู่ 680 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมเป็น 1,180 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นวงเงินที่เตรียมไว้ใช้ในการลงทุนโครงการต่างๆ ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะออกหุ้นกู้เมื่ใด รอจังหวะที่เหมาะสมก่อน เนื่องจากบริษัทได้มีการชำระคืนหนี้ที่ครบกำหนดชำระในปีนี้ไปแล้ว 1.2 หมื่นล้านบาท และจะมีการชำระหนี้คืนอีก 350 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 58 ทั้งนี้ การออกหุ้นกู้บริษัทจะพยายามคุมอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ไม่เกิน 1 เท่า
นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า จากราคาพาราไซลีน (PX) ที่ปรับตัวลงมีผลต่อผลประกอบการ เนื่องจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นผู้ใช้รายใหญ่ และกำลังการผลิตใหม่พาราไซลีนทยอยขึ้น โดยปัจจุบันสเปรดพาราไซลีนอยู่ที่ประมาณกว่า 200 เหรียญ/ตัน จากปีก่อนเฉลี่ยสเปรดที่ 400 เหรียญ/ตัน จึงต้องติดตามปัจจัยด้านเศรษฐกิจจีน ซึ่งเชื่อว่าจีนคงไม่ปล่อยให้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงไปมากกว่าระดับ 7% ขณะที่สเปรดของเบนซีน (BZ) ดีขึ้นจากความต้องการของสหรัฐทำให้ราคาไม่ลดลง สเปรดอยู่ที่กว่า 300 เหรียญ/ตัน
ส่วนค่าการกลั่นในขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 4-5 เหรียญ/บาร์เรล จากไตรมาส 4/56 ที่ค่าการกลั่นลงไปที่ 1.9 เหรียญ/บาร์เรล เพราะราคาน้ำมันปรับตัวดีขึ้น โดยราคาน้ำม้นดูไบอยู่ที่ 103 เหรียญ/บาร์เรล แต่ค่าการกลั่นรวม (GIM) ในขณะนี้คาดอยู่กว่า 5 เหรียญ/บาร์เรล จากปีก่อนที่ GIM เฉลี่ย 7.6 เหรียญ/บาร์เรล เนื่องจากราคาพาราไซลีนฉุดลง
ทั้งนี้ กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA)ของบริษัท ส่วนใหญ่ 40-50% มาจากธุรกิจโรงกลั่น ธุรกิจพาราไซลีน มีสัดส่วน 20-25% น้ำมันหล่อลื่น 10กว่า% โดยทั้ง 3 ส่วนรวมสัดส่วน 90% ส่วนโรงไฟฟ้า มีสัดส่วน 5%