ทั้งนี้มองว่า ปีนี้จะมีเม็ดเงินไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยกว่า 1 แสนล้านบาท หลังจากในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา มีเม็ดเงินต่างชาติไหลออกสุทธิจากตลาดตราสารหนี้แล้ว 30,160 ล้านบาท จากการลดขนาดมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจของไทยที่ปรับลดลง ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงที่ประเทศจะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลง หลังจากที่ Japan Credit Rating Agency (JCR) ปรับลด Outlook ของไทยจาก Stable เป็น Negative เนื่องจากตัวเลขทางเศรษฐกิจ ที่ออกมาในเชิงลบอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงสัญญาณที่เตือนให้ประเทศไทยจะต้องหันมาแก้ไขปัญหาการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ส่วนแนวโน้มผลตอบแทนระยะสั้นในช่วงไตรมาส 2 คาดว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำ ตามการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่คาดว่าผลตอบแทนระยะยาวจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงไตรมาส 3 หากสถานการณ์การเมืองสามารถยุติและสามารจัดตั้งรัฐบาลได้ก่อนครึ่งปีหลัง และเศรษฐกิจจะกลับมาเป็นบวก ประกอบกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯอายุ 10 ปี จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และความเสี่ยงในการถูกปรับลดเครดิตเรทติ้งของประเทศ ที่จะทำให้ผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะยาวเพิ่มสูงขึ้น สำหรับมูลค่าคงค้าง (Outstanding) ของตราสารหนี้ทุกประเภทรวมกัน ณ สิ้นเดือนมี.ค. 57 อยู่ที่ 9.18 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.1% เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 56 หรือ มีขนาดประมาณ 79% ของ GDP โดยเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของตราสารหนี้ภาคเอกชนทั้งตราสารหนี้ระยะสั้นและระยะยาว
ด้านนายบัณฑิต นิจถาวร ประธานกรรมการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ อาจจะมีการเติบโตได้มากกว่าหรือต่ำกว่า 2% หรืออาจจะไม่มีการเติบโตเลย จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ราว 2.6% ซึ่งหากสถานการณ์การเมืองยังยืดเยื้อ และไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลถาวรหรือการหาทองออกอื่นๆได้ ภายในครึ่งปีแรก จะส่งผลให้ภาครัฐฯไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณ และออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆได้ รวมถึงภาคธุรกิจจะมีการปรับตัวโดยการลดขนาดการลงทุนชะลอการใช้จ่าย จะส่งผลต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจให้ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (ก.น.ง.) ครั้งต่อไปในช่วงปลายเดือนนี้คาดว่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% เนื่องจากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็อยู่ในระดับที่ต่ำแล้ว และการลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด เนื่องจากปัญหาหลักที่กระทบเศรษฐกิจมาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ปัจจุบันยังไม่สามารถหาทางออกได้ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อในประเทศยังไม่ถือว่าสูงมากนัก