ทั้งนี้ หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนซึ่งมีอันดับเครดิตต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของ ปตท.สผ. อยู่ 2 ระดับสะท้อนถึงลักษณะการด้อยสิทธิและความเสี่ยงที่ผู้ถือตราสารอาจถูกเลื่อนนัดการชำระดอกเบี้ยของตราสารดังกล่าวได้
อันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ของบริษัทสะท้อนสถานะผู้นำในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย ตลอดจนปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่มีมากพอ การสนับสนุนจากภาครัฐในฐานะที่เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยในการถือสัมปทานปิโตรเลียม และฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวถูกลดทอนลงจากความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ
ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่า ปตท.สผ. จะยังคงดำรงฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งต่อไปได้ โดยคาดว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนต่ำกว่า 0.5 เท่าตามนโยบายทางการเงินของบริษัท ซึ่งเป็นระดับที่ได้พิจารณารวมไปถึงโอกาสที่บริษัทจะซื้อกิจการครั้งใหม่และศักยภาพของบริษัทที่จะสามารถรองรับความผันผวนของราคาปิโตรเลียมและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการดำเนินงานในต่างประเทศได้
ปตท.สผ. เป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมระดับแนวหน้าของประเทศซึ่งก่อตั้งในปี 2528 ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อถือสิทธิ์สัมปทานปิโตรเลียมในนามของรัฐบาลไทย ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2557 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซแห่งชาติถือหุ้นใน ปตท.สผ. ในสัดส่วน 65.3% ทั้ง ปตท. และ ปตท.สผ. ยังคงมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้พระราชบัญญัติงบประมาณของไทย การเป็นตัวแทนของรัฐที่ทำหน้าที่สำรวจและผลิตปิโตรเลียมทำให้ ปตท.สผ. ได้รับประโยชน์ในการเข้าร่วมโครงการสัมปทานปิโตรเลียมที่สำคัญ ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดย ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2557 ปตท.สผ. มีโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรวมทั้งสิ้น 42 โครงการ ซึ่ง 21 โครงการอยู่ในขั้นตอนการผลิต และโครงการส่วนที่เหลืออยู่ในขั้นตอนการสำรวจและพัฒนา
บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นปี 2556 บริษัทมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้วทั้งหมดซึ่งรวมถึงแหล่งปิโตรเลียมในต่างประเทศที่ระดับ 846 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ลดลง 6.1% เมื่อเทียบกับปี 2555 อันเนื่องมาจากอัตราการผลิตที่มีมากกว่าอัตราการเพิ่มของปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์ได้ในปี 2556 โดย ณ สิ้นปี 2556 บริษัทมีสัดส่วนปริมาณสำรองปิโตรเลียมจากโครงการในต่างประเทศคิดเป็น 47% ของปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้ว
ในปี 2556 บริษัทมีอัตราการผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น 4.8% เป็น 329,371 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันอันเนื่องมาจากการที่แหล่งมอนทาราเริ่มผลิตน้ำมันดิบในเดือนมิถุนายน 2556 และการผลิตเต็มปีของโครงการบงกชใต้ โดยหากคิดอัตราการผลิตปิโตรเลียมในปัจจุบันแล้ว ปริมาณสำรองปิโตรเลียมของบริษัทน่าจะผลิตได้นานประมาณ 7 ปี ซึ่งต่ำกว่าปริมาณสำรองของผู้ประกอบการระดับโลกที่มีค่าเฉลี่ยระหว่าง 10-15 ปี
เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการระดับโลกรายอื่นแล้ว ประสิทธิภาพในการดำเนินงานของ ปตท.สผ. ยังอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการผลิต (Lifting Cost) ของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 4.28 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2555 เป็น 4.88 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2556 ซึ่งสะท้อนถึงค่าใช้จ่ายในการผลิตที่สูงของแหล่งมอนทาราและค่าซ่อมบำรุงของโครงการบงกช
ต้นทุนเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังสำหรับการสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียม (F&D) ของบริษัทในปี 2556 เพิ่มขึ้นเป็น 33.49 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบจาก 28.97 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2555 ซึ่งต้นทุนเฉลี่ยของ F&D ที่เพิ่มขึ้นนี้สะท้อนถึงความท้าทายในการเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้วจากโครงการใหม่โดยเฉพาะโครงการในต่างประเทศและการซื้อกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโครงการที่มีทรัพยากร (Contingent Resources) มากกว่าจะเป็นโครงการที่มีปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์ได้
ในปี 2556 บริษัทได้ซื้อสินทรัพย์ในโครงการ Natuna Sea A ในประเทศอินโดนีเซียจาก Hess Corporation มูลค่า 325 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปัจจุบันโครงการนี้อยู่ในระยะผลิตปิโตรเลียม ทำให้บริษัทมีอัตราการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 4,500 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 1.4%
บริษัทยังคงมีฐานะการเงินโดยรวมที่แข็งแกร่งและสถานะทางการเงินของบริษัทในปี 2556 อยู่ในประมาณการของ ทริสเรทติ้ง ในปี 2556 บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 7.2% เป็น 7,172 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น 6.1% เป็น 292,629 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และราคาขายเฉลี่ยที่ปรับเพิ่มขึ้น 1.1% เป็น 65.58 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ นอกจากนี้ บริษัทยังมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้นจาก 5,099 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2555 เป็น 5,374 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2556 ด้วย
โครงสร้างเงินทุนของบริษัทจัดว่ามีความแข็งแกร่ง ซึ่งบริษัทมีเงินกู้รวม (ปรับปรุงแล้วด้วยสัญญาเช่าดำเนินงานและหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน) จำนวน 4,261 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2556 โดยมีอัตราส่วนเงินกู้รวม (ปรับปรุงแล้ว) ต่อโครงสร้างเงินทุนดีขึ้นเล็กน้อยจาก 27.5% ณ สิ้นปี 2555 เป็น 26.8% ณ สิ้นปี 2556 บริษัทยังคงมีสภาพคล่องที่ดี โดย ณ เดือนธันวาคม 2556 บริษัทมีเงินสดในมือ 2,357 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2556
แผนค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนระยะ 5 ปีของบริษัทระหว่างปี 2557-2561 คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 16,404 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประมาณ 52% ของค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนทั้งหมดจะเป็นการลงทุนในประเทศไทย ส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (22%) อเมริกาเหนือ (11%) ตะวันออกกลางและแอฟริกา (14%) กลุ่มประเทศในทวีปออสเตรเลีย (1%)
การลงทุนดังกล่าวเพื่อรองรับแผนเพิ่มปริมาณการผลิตของบริษัทเป็น 2 เท่า จากระดับประมาณ 329,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในปี 2556 เป็น 600,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในปี 2563 โดยปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายจำนวน 271,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันนั้นจะมาจากโครงการในปัจจุบันของบริษัทที่อยู่ในระยะการสำรวจและพัฒนา รวมถึงการซื้อกิจการโครงการที่อยู่ในระยะการผลิตหรือใกล้ที่จะผลิตปิโตรเลียมแล้ว โครงการในปัจจุบันที่จะสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตให้แก่บริษัทส่วนใหญ่จะอยู่ในต่างประเทศ เช่น โครงการ Rovuma Offshore Area 1 ในสาธารณรัฐโมซัมบิก โครงการ Oil Sand ในประเทศแคนาดา และโครงการ M3 ในสหภาพพม่า ซึ่งโครงการเหล่านี้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินงานได้ในปี 2561-2562
ในช่วงปี 2557-2559 ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมี EBITDA ประมาณ 5,500-5,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีโดยอยู่บนสมมุติฐานที่ปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยอยู่ที่ 330,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันและราคาขายปิโตรเลียมเฉลี่ยที่ 64.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยมีแผนค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนในช่วงปี 2557-2559 ที่ประมาณ 10,024 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในขณะที่บริษัทมีภาระที่จะต้องชำระคืนเงินกู้ในช่วงปี 2557-2559 ประมาณ 1,140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นชำระคืนในปี 2557 จำนวน 390 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2558 จำนวน 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไม่มีภาระการชำระคืนเงินกู้ในปี 2559 โดยจากสมมุติฐานดังกล่าวคาดว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนเงินกู้รวม (ปรับปรุงแล้ว) ต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 26% ในช่วงปี 2557-2559